Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน
Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

      การมีบ้านคือความฝันของใครหลาย ๆ คน แต่ก่อนที่เราจะมีบ้านเราต้องตรวจสอบหลายเรื่องทั้งเรื่องของเราและเรื่องของบ้าน เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย วันนี้  Home Buyers มีสิ่งสำคัญมาแนะนำและควรทำตามอย่างยิ่ง เพราะนี่คือ 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน ทำตามแล้วไม่ต้องกังวลเรื่องแก้ไขบ้านตามมาเลย จะมีอะไรบ้าง ต้องไปดู

ทำไม? ต้องตรวจรับบ้านก่อนโอน

      การตรวจบ้านเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วนในการหาจุดบกพร่องของบ้านเพื่อแจ้งให้โครงการแก้ปัญหาก่อนโอนรับกรรมสิทธิ์ เพราะถ้าเราไม่ตรวจให้ดีเสียก่อน เมื่อรับบ้านมาแล้วเจอจุดบกพร่องเหล่านั้นเราต้องเสียเงินแก้ไขเอง หรือตรวจเจอแล้วแต่โครงการให้เซ็นรับมอบไปก่อนโดยสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาให้ทีหลัง เจ้าของบ้านก็ต้องวุ่นวายมาทวงสัญญาตอนหลังอยู่ดี ดีไม่ดียากกว่าเก่า เพราะส่วนมากผู้ขายไม่ค่อยใส่ใจลูกค้ามากเท่าไหร่ ดังนั้นเพื่อรักษาสิทธิ์และมีอำนาจต่อรองมากกว่า เราต้องตรวจสอบให้ดีก่อนตกลงเซ็นรับบ้านค่ะ

 

Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

1.พื้นที่นอกตัวบ้าน 

ด่านแรกสุดที่ต้องตรวจสอบก่อนใครเพื่อน เพราะเข้ามาแล้วเราจะเห็นพื้นที่นี้ก่อนเลย โดยแบ่งรายละเอียดปลีกย่อยได้ดังนี้

Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

ประตูรั้ว : หากเป็นบานพับจะต้องเปิดปิดได้สะดวกไม่ฝืดเคือง ไม่มีเสียงเสียดสีของสนิม งานสีต้องทาเรียบร้อยครบทั้งบาน  ไม่มีส่วนที่เห็นเนื้อวัสดุหรือขึ้นสนิม กลอนประตูสามารถใช้การได้ดี แต่ถ้าเป็นเเบบเลื่อนให้เราเปิดค้างไว้แล้วดูว่ามันหยุดอยู่ตรงนั้น ไม่เลื่อนไหลเองใช่หรือไม่

รั้ว : รั้วต้องตั้งตรง ไม่เอียง ไม่ล้ม ไม่มีรอยแตกร้าว สีหรือวัสดุพื้นผิวจะต้องเรียบร้อยสวยงาม ไม่มีคราบความสกปรกจากการก่อสร้างติดอยู่

ดินถมรอบบ้าน : ดินที่ถมต้องถมเต็มพื้นที่ คือมีการปรับระดับของดินบริเวณรอบบ้านจนเรียบหรือเป็นเนินสวยงาม ไม่มีเศษวัสดุก่อสร้างหรือคราบปูนหลงเหลือ

หญ้าและต้นไม้ : หากโครงการสัญญาว่าจะปลูกหญ้าและต้นไม้ในบริเวณบ้าน ควรสั่งให้ปลูกหลังจากตรวจบ้านและเราใกล้เข้ามาอยู่แล้ว ที่สำคัญต้องตรวจสอบให้ดีว่าเขานำพลาสติกที่ห่อต้นไม้หรือดินออกแล้วหรือยัง

การระบายน้ำรอบที่ดิน : ตรวจสอบว่าบ้านมีรางระบายน้ำหรือจุดสำหรับระบายน้ำอยู่รอบที่ดินในทิศทางที่จะไม่ไหลย้อนกลับเข้าตัวบ้านหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องดูท่อระบายน้ำต่อคือ ต้องมีบ่อพักและฝาเปิดเพื่อทำการซ่อมบำรุงทุกระยะ 12 เมตร ดีที่สุดควรเข้าไปตรวจสอบทันทีหลังฝนหยุดตก จะได้เห็นของจริงว่าเป็นอย่างไร

ที่จอดรถ : ตรวจสอบความลาดเอียงของพื้นให้อยู่ในองศาที่พอเหมาะ เพื่อป้องกันน้ำขังจากฝนสาดหรือน้ำล้างรถ อีกทั้งพื้นผิวก็ต้องเรียบเสมอไม่มีผิวขรุขระ และก่อสร้างด้วยปูนซีเมนต์เพื่อความเเข็งแรงรองรับน้ำหนักรถได้ดี

ผนังภายนอก : ตรวจสอบรอยแตกร้าวทั้งจากการฉาบปูนและการทาสี ซึ่งสีจะต้องเรียบเนียนสม่ำเสมอ ไม่มีร่องรอยขูดสีให้เห็น หากเป็นวัสดุบุผนังอื่น ๆ จะต้องไม่แตกบิ่นหรือบวมให้เห็น

ระเบียงหรือเฉลียงนอกบ้าน : ให้ดูวัสดุปูพื้นว่ามีความเรียบร้อยสวยงาม ไม่ลื่นเวลาเปียกน้ำ และน้ำจะต้องไหลออกนอกตัวบ้านเสมอเวลาฝนตกหรือมีน้ำไหลนองอยู่

2.โครงสร้าง

ตามหลักแล้วการตรวจสอบโครงสร้างบ้านต้องดูกันระหว่างขั้นตอนก่อสร้าง แต่ปัจจุบันหลายคนมักเลือกซื้อบ้านสร้างเสร็จพร้อมอยู่มากกว่า การตรวจโครงสร้างจึงทำได้ไม่ละเอียดนักเพราะถูกปกปิดด้วยการตกแต่งส่วนต่าง ๆ ไปแล้ว อย่างไรก็ดีเรายังมีวิธีตรวจสอบจุดต่าง ๆ ได้อยู่

Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

เสาและคานส่วนของโครงสร้างเหล็ก : เสาดีบ้านก็แข็งแรงตาม เสาจึงต้องไม่มีรอยแตกร้าว ไม่มีรอยแยกระหว่างเสากับผนัง  รวมถึงรูปแบบของเสาก็ไม่ควรแอ่นหรือโค้งผิดรูปแม้แต่นิดเดียว

พื้น : พื้นต้องเรียบสม่ำเสมอ ไม่แอ่นหรือป่องขึ้นมาให้สะดุดเท้าเลย

เสาเอ็นและทับหลังรอบวงกบประตูหน้าต่าง : ไม่มีรอยแตกร้าวที่มุมวงกบประตูและหน้าต่าง

โครงสร้างเหล็กรับหลังคา : ให้ตรวจดูการเชื่อมต่อโครงเหล็กว่ามีความมั่นคงแข็งแรงหรือไม่ ไม่แอ่นเอียงแบบผิดปกติ ระยะห่างระหว่างระแนงกับกระเบื้องต้องเท่ากันสม่ำเสมอ และต้องมีการทาสีเคลือบกันสนิมทั่วบริเวณ

โครงสร้างไม้ฝ้าเพดาน : เนื้อไม้ต้องมีการเคลือบน้ำยาป้องกันปลวกทั่วทุกด้าน ไม่มีรอยผุหรือกัดแทะของแมลง

3.หลังคา

หน้าที่ของหลังคาคือการบังแดดและฝน จึงต้องตรวจสอบว่าหลังคาอยู่ในสภาพดีหรือไม่ โดยทำการตรวจสอบหลังฝนตกหมาด ๆ จะดีที่สุด เพราะเราสามารถมองหาจุดรั่วซึมได้ง่าย แต่หากไม่สามารถรอให้ฝนตกได้ก็ลองฉีดน้ำใส่แทน หรือสังเกตจากคราบน้ำฝนที่ตกลงมา ซึ่งจุดสำคัญของหลังคาที่ควรตรวจสอบมีดังนี้

Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

ชายคา : กระเบื้องทุกแผ่นติดตั้งอย่างแข็งแรง รอยต่อของวัสดุทำชายคาเชื่อมต่ออย่างเรียบร้อย ขอบชายคาได้แนวตรงทุกด้าน

ฝ้าเพดานใต้ชายคา : ใช้วัสดุกันน้ำ ไม่มีคราบน้ำรั่วซึม ไม่มีรอยแตกแม้แต่นิดเดียว มีการติดตั้งเรียบร้อย ทาสีเรียบเนียนสม่ำเสมอ

ช่องระบายอากาศ : เรียบร้อยไม่คดงอ หากมีการเจาะรู ขนาดรูก็ต้องเท่ากันสม่ำเสมอ และควรมีการติดตั้งมุ้งลวดใต้หลังคาเพื่อกันแมลงและสัตว์เล็กด้วย

กระเบื้องหลังคา : ติดตั้งสวยงามได้แนวตรง ผูกลวดยึดเกาะกันอย่างแข็งแรง สีกระเบื้องสม่ำเสมอตรงตามที่กำหนดไว้

การรั่วซึมของหลังคา : ฝ้าใต้หลังคาต้องไม่มีคราบน้ำรั่วซึม กระเบื้องปูหลังคาแต่ละเเผ่นต้องแนบสนิท มองจากภายในบ้านแล้วไม่เห็นรูแสงผ่านเข้ามาเลย

4.พื้น

พื้นคือส่วนที่เราสัมผัสมากที่สุดของบ้าน เราจึงตรวจสอบให้เรียบร้อยที่สุดผ่านการมองและการสัมผัส โดยมีจุดสำคัญที่ควรดูให้ละเอียดดังนี้

Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

พื้นผิวในตัวบ้าน : ควรเรียบเนียนสม่ำเสมอ เดินไม่สะดุด ไม่นูน โก่งตัว หรือยุบเป็นโพรงใต้กระเบื้อง และหากส่วนนั้นไม่ใช่ส่วนที่ต้องระบายน้ำ บริเวณนั้นต้องไม่เป็นแอ่ง

พื้นผิวส่วนเปียก : ในส่วนพื้นห้องน้ำ พื้นลานจอดรถ พื้นลานซักล้าง พื้นเฉลียงภายนอกเหล่านี้ต้องมีความลาดเอียงพอเหมาะกับการระบายน้ำ และต้องไม่มีน้ำขังเป็นแอ่งให้เห็น

บันได : ลูกนอนและลูกตั้งของบันไดต้องเท่ากันทุกขั้น แต่ละขั้นต้องได้ฉากและได้แนว เวลาเดินขึ้นลงต้องไม่ส่งเสียงดัง วัสดุเคลือบผิวเรียบร้อย ติดตั้งราวกันตกอย่างมั่นคงแข็งแรง

การปูพื้นหรือติดตั้งวัสดุบุผิว : พื้นไม้ พื้นลามิเนต หินอ่อน หินแกรนิต กระเบื้องเซรามิค รวมถึงพรม รอยต่อทั้งหมดต้องสนิทดี  มีความเรียบเนียนเสมอกัน ไม่มีคราบน้ำหรือความชื้นจากภายใน ยาแนวที่ใช้ก็ต้องผสมสารกันซึมและเชื้อราอย่างดี สีสม่ำเสมอถูกต้องตามแบบ ไม่มีคราบสกปรก

5.ผนัง

บริเวณผนังเป็นส่วนที่มีพื้นผิวมากที่สุดของบ้าน จึงควรมีการตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนดังนี้

Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

ระดับผิวหน้าผนัง : ต้องได้ดิ่งและได้ฉาก ผิวปูนฉาบหนังต้องเรียบสม่ำเสมอ ไม่มีสวนที่ปูดออกหรือยุบเป็นหลุม ไม่มีรอบแตกร้าว ทาสีเรียบเนียนสม่ำเสมอ

รอยต่อระหว่างพื้น ผนัง เพดาน : ต้องแนบสนิท ไม่มีรอยแตกระหว่างผนังกับพื้นและเพดาน

วัสดุบุผนัง : วิธีสังเกตจะเหมือนกับวัสดุปูพื้น คือเรียบเนียบเสมอกัน สีสม่ำเสมอถูกต้องตามแบบ ส่วนที่เพิ่มขึ้นมาคือบัวพื้น บัวเชิงผนัง และบัวฝ้าเพดาน ต้องติดตั้งแนบสนิบไม่โก่งหรือคดงอ ได้ระดับเท่ากันทั้งห้อง

6.ฝ้าเพดาน

แม้จะอยู่สูงจากการสัมผัส แต่ไม่ควรละเลยการตรวจสอบอย่างละเอียด โดยทั่วไปฝ้าเพดานจะใช้วัสดุ 3 ชนิด ได้แก่ ยิปซั่มบอร์ดฉาบเรียบ ฝ้าทีบาร์ และฝ้าแผ่นกระเบื้องซีเมนต์ โดยมีจุดสังเกตดังต่อไปนี้

Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

ระดับของฝ้า : มีรับดับเท่ากันทั้งห้อง ไม่ตกท้องช้างหรือเว้าขึ้นบน ขอบฝ้าอยู่ในระดับตรง และควรมีช่องเซอร์วิสสำหรับเปิดขึ้นไปตรวจสอบใต้หลังคาด้วย

การเชื่อมต่อฝ้า : หากเป็นฝ้ายิปซั่มบอร์ดฉาบต้องเรียบไม่เห็นรอยต่อ, ส่วนฝ้าทีบาร์เส้นทีบาร์ต้องตรงได้ระดับไม่คดงอ แผ่นฝ้าที่ใส่ช่องทีบาร์ทั้งหมดต้องเป็นมุมฉาก, ขณะที่ฝ้าแผ่นกระเบื้องซีเมนต์ รอยต่อต้องมีขนาดสม่ำเสมอและเป็นเส้นตรง

สีฟ้าเพดาน : สีต้องเรียบเนียบสวยงาม ไม่มีคราบสกปรกหรือรอยต่าง ๆ ให้เห็น

7.ช่องเปิด

ช่องเปิดคือช่องต่าง ๆ ที่เปิดออกจากตัวบ้าน ได้แก่ ช่องประตู, ช่องหน้าต่าง, ช่องแสง, ช่องระบายอากาศ, บานเกล็ด, ผนังอิฐแก้ว ฯลฯ โดยมีจุดที่ต้องตรวจสอบดังนี้

Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

กรอบของช่องเปิด : กรอบของทุกช่องเปิดต้องได้แนวและระดับ ได้ฉากและมีขนาดที่ถูกต้อง เปิดปิดได้สะดวก ไม่มีช่องว่างระหว่างบานกรอบกับวงกบ มีการทำทับหลังและเสาเอ็น

กระจก : ไม่มีรอยแตกร้าว รอยขีดข่วน กดดูแล้วไม่หลุดออกจากบานหรือโก่งจนเหมือนจะแตกออกมา อีกอย่างตรงรอยต่อระหว่างกระจกกับบานหรือวงกบก็ต้องแนบสนิทด้วย

อุปกรณ์ต่าง ๆ : มีการใช้งานได้ดี ลงกลอนได้สุดทุกตัว มือจับและลูกบิดติดตั้งแข็งแรง ไม่หลวมหลุดเมื่องออกแรงดึง

8.ไฟฟ้า

 การตรวจสอบระบบไฟฟ้ามีตั้งแต่ระดับง่ายที่เราเจ้าของบ้านสามารถตรวจสอบได้เอง ไปจนถึงระดับยากที่ต้องอาศัยความรู้เชิงช่างประกอบ ซึ่งมีรายละเอียดคร่าว ๆ ให้ตรวจสอบดังนี้

Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

ปลั๊กไฟฟ้า :  มีการใช้งานได้ทุกจุด ฝาครอบไม่หมองคล้ำหรือมีรอยดำ ให้ดีสุดคือ ควรตรวจสอบด้วยไขควงวัดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า ที่สำคัญอย่าลืมลองกดกริ่งหน้าบ้านดูด้วยว่าใช้งานได้หรือไม่

สวิทช์ไฟฟ้า : เปิดปิดสะดวก ไม่สะดุด และควรลองเปิดปิดแรง ๆ หลายครั้งเพื่อดูความแข็งแรง ส่วนฝาครอบนั้นต้องไม่หมองคล้ำหรือมีรอยดำให้เห็น

ไฟแสงสว่าง : หลอดไฟฟ้าทุกดวงในและนอกบ้านต้องเปิดได้หมด ที่สำคัญต้องไม่มีคราบดำเลย

การเดินสายไฟฟ้า : ต้องเดินเรียบร้อยสวยงาม ในส่วนของแบบลอยต้องมีการตีกิ๊บเรียบร้อย ไม่หลุดร่วงให้เกะกะ อีกทั้งบริเวณมุมก็ต้องเข้ามุมสวยงาม ไม่มีบริเวณใดของสายไฟที่เป็นรอยคล้ำหรือดำให้เห็น

สายดิน : ทุกปลั๊กไฟฟ้าต้องเดินสายดินให้เรียบร้อย และต้องสอบถามว่าได้ฝังแท่งเหล็กสายดินไว้ตรงไหน เราต้องทราบจุดฝังให้ชัดเจน

อุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ : ตามปกติโครงการบ้านจะแถมเครื่องใช้ไฟฟ้าพื้นฐานอย่าง เครื่องปรับอากาศ, พัดลมดูดอากาศ, เครื่องดูดควัน, เตาไฟฟ้า, เครื่องทำน้ำอุ่น ฯลฯ ดังนั้นต้องทดลองใช้อุปกรณ์ดังกล่าวก่อน เพื่อตรวจดูการใช้ไฟว่าปกติดีหรือไม่ ที่สำคัญต้องมีใบรับประกันอุปกรณ์ทุกชิ้นให้เราด้วย

9.สุขาภิบาล

ระบบนี้จะเกี่ยวกับเรื่องน้ำทั้งหมดในบ้าน ซึ่งมีจุดสำคัญที่ต้องตรวจสอบดังนี้

Checklist 9 จุดสำคัญ ตรวจรับบ้านก่อนโอน

การติดตั้งสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ : ต้องติดตั้งในตำแหน่งที่ถูกต้อง ได้ระนาบและได้ฉาก มีความมั่นคงแข็งแรง ผิวสุขภัณฑ์เรียบเนียนไม่มีรอยด่างหรือคราบสกปรก

ก๊อกน้ำ : สามารถใช้งานได้ดี เปิดปิดไม่ติดขัดหรือหลวมไป น้ำไหลสะดวกและไม่เบาผิดปกติ เมื่อปิดก๊อกแล้วต้องไม่มีน้ำหยดซึมเลย

อ่างล้างหน้าและอ่างอาบน้ำ : ติดตั้งในตำแหน่งและระดับความสูงที่ถูกต้อง ช่องน้ำล้นและสะดือสามารถระบายน้ำได้ดี พื้นผิวเรียบเนียน สะอาดไม่มีคราบสกปรก

จุดระบายน้ำที่พื้น : สามารถระบายน้ำได้ดีในเวลาที่รวดเร็ว โดยที่ระบายน้ำนั้นก็ควรมีถ้วยดักกลิ่นหรือติดตั้งระบบดักกลิ่นไว้เพิ่มด้วย

ระบบท่อ : ทุกจุดของท่อและข้อต่อต้องไม่มีรอยรั่วของน้ำ เมื่อปิดระบบน้ำทั้งหมดแล้วมิเตอร์ต้องไม่เดินเลย

โถส้วม : เมื่อกดน้ำแล้วสามารถชำระสิ่งปฏิกูลได้เป็นอย่างดี ยาแนวที่ฐานมีความเรียบร้อย และไม่มีฟองอากาศเกิดขึ้นเมื่อใช้งาน ที่สำคัญต้องไม่มีฟองอากาศผุดขึ้นในโถนั้น ๆ เมื่อใช้งานโถส้วมห้องน้ำอื่น

 

      ทั้งหมดนี้คือ 9 จุดสำคัญที่เราต้องตรวจสอบให้ดีก่อนตกลงโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ทุกจุดต่างสำคัญและเราต้องตรวจสอบให้ดีให้ละเอียดถี่ถ้วน ไม่ควรปล่อยไปง่าย ๆ เอาแบบทุกซอกทุกมุมไปเลยค่ะ เพราะเวลารับโอนแล้วจะได้มีความสุขไม่ต้องทนทุกข์แก้ไขบ้านทีหลัง แม้ปัจจุบันจะมีบริษัทรับจ้างตรวจสอบบ้านโดยวิศวกรหลายแห่งพร้อมให้บริการ แต่ผู้ซื้อบ้านก็ควรมีความเข้าใจคอนเซปต์คร่าว ๆ ไว้บ้าง เวลาตรวจสอบจะได้เป๊ะยิ่งขึ้น

 

      สุดท้ายนี้ขอย้ำเรื่องสำคัญที่เจ้าของบ้านห้ามพลาดเด็ดขาดนั่นคือ ห้ามหลงคารมเจ้าหน้าที่โครงการหากมีการกล่อมให้เราเซ็นรับบ้านทั้ง ๆ ที่บ้านยังไม่พร้อม โดยสัญญาว่าจะมาแก้ไขให้ทีหลังหากบ้านมีปัญหา ถ้าเกิดแบบนี้ให้คิดก่อนเลยว่ายากมากที่จะเกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่ความใส่ใจผู้ซื้อของผู้ขายจะหมดหลังจากรับโอนบ้าน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ผู้ซื้อต้องละเอียด รอบคอบและเข้มงวดทุกอย่างให้ดี

 

ให้เราช่วยค้นหามั้ย ?

ขั้นตอนที่ 1 จาก 2

เลือกประเภทและความต้องการของคุณ
ความต้องการ *
สถานะทรัพย์
ที่ตั้ง *
ประเภทอสังหาฯ *
ช่วงราคา (บาท) *

-

ให้เราช่วยค้นหามั้ย ?

ขั้นตอนที่ 1 จาก 2

เลือกประเภทและความต้องการของคุณ
ความต้องการ *
สถานะทรัพย์
ที่ตั้ง *
ประเภทอสังหาฯ *
ช่วงราคา (บาท) *

-

บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง