
ศักดิ์ชัย บุญมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า(ร่าง)ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้จริงประมาณปลายปี 2563 เนื่องจากจะมีการปรับปรุงกฎหมายผังเมืองเพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่น เช่น สภากรุงเทพมหาครได้เข้ามามีบทบาทในการออกข้อบัญญัติที่จะบังคับใช้ในร่างผังเมืองดังกล่าว ขณะเดียวกัน กรุงเทพฯยังเป็นเมืองใหญ่ที่มีทั้งประชากรที่พักอาศัยในทะเบียนบ้านและประชากรในจังหวัดโดยรอบเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่จำนวนมาก โดยมีความต้องการที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน
อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการใช้ประโยชน์ที่ดินของร่างผังเมืองฉบับใหม่มีอยู่ 7 ประเด็นสำคัญด้วยกันดังนี้
1.การส่งเสริมการพัฒนาโดยรอบพื้นที่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางรางต่างๆ โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางสำคัญ
2.การอนุรักษ์ย่านประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์และกรุงธนบุรี
3.การอนุรักษ์และพัฒนาย่านสถาบันการบริหารปกครอง
4.การพัฒนาย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง ย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรองบริเวณศูนย์คมนาคม และย่านพาณิชยกรรมศูนย์ชุมชนชานเมือง
5.การพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากและหนาแน่นปานกลาง ในพื้นที่การให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
6.การพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยบริเวณชานเมือง
7.การพัฒนาศูนย์ชุมชนเกษตรกรรม และการสงวนรักษาพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมชานเมือง

ทั้งนี้ จะมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในหลายๆพื้นที่ เช่น การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรมที่กำหนดให้เป็นทางน้ำท่วมหลาก (Flood Way)บางส่วนเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อลดภาระความสูญเสียของประชาชนจากปัญหาอุทกภัย

การขยายพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง (Central Business District หรือ CBD) พาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง (Sub CBD) บริเวณศูนย์คมนาคม (Intermodal) และพาณิชยกรรมศูนย์ชุมชนชานเมือง (Sub Center) โดยศักยภาพจากการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของกรุงเทพมหานคร พาณิชยกรรมศูนยกลางเมือง พาณิชยกรรมศูนยกลางรอง

การขยายพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยโดยศักยภาพจากการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรของกรุงเทพมหานคร
การส่งเสริมการพัฒนาโดยรอบพื้นที่สถานีระบบขนส่งมวลชนทางราง กำหนดเงื่อนไขขนาดกิจการที่ตั้งอยู่ริมถนนที่มีเขตทางไม่น้อยกว่า 10, 12, 16 และ 30 เมตร หรืออยู่ในระยะ 500, 650 และ 800 เมตรโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหรือระยะ 800 เมตร โดยรอบสถานีร่วมหรืออยู่ในระยะ 250 เมตร โดยรอบท่าเรือสาธารณะริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
![คาดผังเมืองกทม.ฉบับใหม่ จะประกาศใช้ได้ปลายปี 63 คาดผังเมืองกทม.ฉบับใหม่ จะประกาศใช้ได้ปลายปี 63]()
![คาดผังเมืองกทม.ฉบับใหม่ จะประกาศใช้ได้ปลายปี 63 คาดผังเมืองกทม.ฉบับใหม่ จะประกาศใช้ได้ปลายปี 63]()

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการลดจำนวนที่จอดรถยนต์ในอาคารโดยรอบสถานี โดยการลดหย่อนจำนวนที่จอดรถยนต์ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร ลงร้อยละ 25 สำหรับอาคารที่ตั้งอยู่ในระยะ 500 เมตรโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนหรือ 800 เมตรโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสถานีร่วม 11 สถานีได้แก่ สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ, สถานีสยาม*, สถานีชิดลม, สถานีเพลินจิต, สถานีราชดำริ, สถานีสามย่าน, สถานีสีลม, สถานีศาลาแดง*, สถานีลุมพินี, สถานีช่องนนทรี และสถานีสุรศักดิ์ รวมทั้งมาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน(FAR Bonus), ข้อกำหนดการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ตลอดจนมาตรการโอนสิทธิการพัฒนา เป็นต้น
เรียบเรียงโดย...อรวรรณ ภูขำ
ติดตามข่าวสารอสังหาฯและข่าวดังในกระแส www.home.co.th/news
ติดตามข้อมูลโครงการและความเคลื่อนไหวด้านอสังหาฯ www.home.co.th และ www.facebook.com/Homebuyersfanpage
หรือชมวิดีโออื่นๆ คลิกที่นี่ www.home.co.th/vdo , www.youtube.com/tvhomebuyer