
เตรียมประกาศใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ปี 2563 นี้ ผังเมืองที่ว่ากันว่า “เปลี่ยนแปลงยกแผง” เพื่อรองรับการขยายตัวของโครงข่ายคมนาคมและระบบขนส่งมวลชนทางราง มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินหลายทำเล ตามไปดูกันค่ะ ทำเลไหนเปลี่ยนแปลงแล้วได้ประโยชน์ (มากขึ้น)
เพิ่มกว่า 6 หมื่นไร่
“พื้นที่สีส้ม ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง”
ภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ ที่เห็นชัดที่สุดคือ การเพิ่มพื้นที่ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางหรือพื้นที่สีส้มกว่า 60,000 ไร่ ขณะเดียวกันก็ได้เพิ่มพื้นที่สีเขียว (พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม) เกือบ 60,000 ไร่ด้วย
เมื่อได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง พื้นที่สีส้มประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางและพื้นที่สีเขียวประเภทพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นจากการลดพื้นที่สีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) และพื้นที่สีเขียวทแยง (ที่ดินอนุรักษ์และเกษตรกรรม) ดังตาราง
![เตรียมประกาศ “ผังเมืองใหม่” กรุงเทพฯ ทำเลไหนเปลี่ยนแปลงแล้วได้ประโยชน์ เตรียมประกาศ “ผังเมืองใหม่” กรุงเทพฯ ทำเลไหนเปลี่ยนแปลงแล้วได้ประโยชน์]()
ขนาดเนื้อที่และเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงในร่างผังเมืองฉบับใหม่
* ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 273,957.82 ไร่ หรือประมาณ 27.97% ภายหลังมีการปรับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครแล้วจะมีเนื้อที่ประมาณ 246,116.80 ไร่ หรือประมาณ 25.13% ลดลงประมาณ 27,841.02 ไร่
* ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 155,050.51 ไร่ หรือประมาณ 15.83% ภายหลังมีการปรับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครแล้วจะมีเนื้อที่ประมาณ 216,033.61 ไร่ หรือประมาณ 22.06% ลดลงประมาณ 60,983.10ไร่
* ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (สีน้ำตาล) ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 273,957.82 ไร่ หรือประมาณ 27.97% ภายหลังมีการปรับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครแล้วจะมีเนื้อที่ประมาณ 246,116.80 ไร่ หรือประมาณ 25.13% ลดลงประมาณ 27,841.02 ไร่
* พื้นที่พาณิชยกรรม (สีแดง) ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 42,802.44 ไร่ หรือประมาณ 4.37% ภายหลังมีการปรับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครแล้วจะมีเนื้อที่ประมาณ 49,074.20 ไร่ หรือประมาณ 5.01% ลดลงประมาณ 6,271.75 ไร่
* พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวทแยงเขียว) ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 150,203.63 ไร่ หรือประมาณ 15.34% ภายหลังมีการปรับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครแล้วจะมีเนื้อที่ประมาณ 53,779.61 ไร่ หรือประมาณ 5.49% ลดลงประมาณ 96,424.02 ไร่
* พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) ปัจจุบันมีเนื้อที่ประมาณ 234,899.86 ไร่ หรือประมาณ 39.32% ภายหลังมีการปรับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครแล้วจะมีเนื้อที่ประมาณ 293,702.67 ไร่ หรือประมาณ 299.99% ลดลงประมาณ 58,802.82 ไร่
14 พื้นที่ 20 ทำเล “เปลี่ยน”
รองรับการขยายตัวของเมือง
จาก (ร่าง) ผังเมืองรวมฉบับใหม่ครั้งนี้จะเห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก รวมกว่า 120,000 ไร่ทั่วกรุงเทพฯ ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ได้อานิสงส์ไปตามๆ กัน เป็นการปลดล็อคข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ที่ดินครั้งใหญ่ หรืออีกนัยหนึ่งสามารถให้ประโยชน์ในที่ดินได้มากขึ้นหลากหลายขึ้น
ทั้งนี้เมื่อดูภาพรวมของพื้นที่ต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลง จะสังเกตได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นการยกระดับศักยภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยจุดประสงค์ 2 ประการ ได้แก่
* ยกระดับเพื่อรองรับโครงการขนส่งมวลชน ได้แก่ ทำเลตามแนวรถไฟฟ้าสายทั้งที่กำลังดำเนินการและสายที่อยู่ในแผนพัฒนาทั้งในบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นกลางและชั้นนอก
โดยทำเลที่มีการเปลี่ยนแปลงชัดเจน ได้แก่ พหลโยธิน, ประชาชื่น, แจ้งวัฒนะ, หลักสี่ รองรับการขยายตัวของรถไฟฟ้าสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีแดง และยังมีทำเลลาดพร้าว, นวมินทร์, รามคำแหง, บางกะปิ, รามอินทรา, มีนบุรี รองรับรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายสีส้มและรถไฟฟ้าสายสีชมพู
* รองรับการขยายตัวของประชากรเมืองในทำเลเมืองชั้นนอก โดยเป็นการยกระดับให้เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เพื่อให้สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรเมืองในอนาคต
สำหรับพื้นที่รอบนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินชัดเจน ได้แก่ ลาดกระบัง รองรับการพัฒนา EEC และสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 3, วัชรพล รองรับการขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ ตอนบน, หนองจอก และตลิ่งชัน รองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ รอบนอกฝั่งตะวันออกและตะวันตก และทำเลกรุงเทพฯ ชั้นใน ได้แก่ พระราม 4, คลองเตย, พระราม 3, เจริญนคร, คลองสานและพระนคร ที่รองรับการเติบโตของกรุงเทพฯ ชั้นในและ CBD
![เตรียมประกาศ “ผังเมืองใหม่” กรุงเทพฯ ทำเลไหนเปลี่ยนแปลงแล้วได้ประโยชน์ เตรียมประกาศ “ผังเมืองใหม่” กรุงเทพฯ ทำเลไหนเปลี่ยนแปลงแล้วได้ประโยชน์]()
ดูดีๆ! ผังสีเปลี่ยน
แต่การข้อกำหนดใช้ประโยชน์ที่ดินอาจไม่เปลี่ยน
การกำหนดผังสีการใช้ประโยชน์ที่ดินคือการแสดงศักยภาพของที่ดินในทำเลนั้นๆ ว่าสามารถพัฒนาได้มากน้อยเต็มศักยภาพมากแค่ไหน และหัวใจของการวัดศักยภาพของที่ดินจะพิจารณาจากตัวเลขสองตัวหลักคือ
อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินหรือ Floor Area Ratio (FAR) ยิ่งมีตัวเลขมาก หมายความว่ายิ่งพัฒนาได้เต็มศักยภาพมาก
และอัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวมหรือ Open Space Ratio (OSR) ยิ่งตัวเลขมาก หมายความว่าต้องเว้นพื้นที่ว่างในที่ดินมาก ทำให้พัฒนาได้น้อยลง
ดังนั้นทุกครั้งที่มีการปรับปรุงผังเมืองรวม สิ่งที่คนทั่วไปล้วนให้ความสนใจคือเมื่อผังเมืองมีการเปลี่ยนสีแล้ว ตัวเลขของอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) และอัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (OSR) จะเป็นอย่างไร เพื่อดูว่าที่ดินที่ถือครองอยู่นั้นจะสามารถพัฒนาได้มากน้อยแค่ไหน
“บางกะปิ” มีเฮ
ผังสีเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ FAR
ในร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับนี้มีการเพิ่มค่า FAR ตามผังสีในพื้นที่ต่างๆ เหมือนการปรับปรุงครั้งก่อนๆ แต่ที่ไม่เหมือนกันก็คือแม้บางพื้นที่ผังสีจะเปลี่ยน แต่อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) และอัตราส่วนพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (OSR) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็มี และขณะเดียวกันบางพื้นที่ผังสีเหมือนเดิม แต่อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินเพิ่มขึ้นก็มี!
ผังสีเหมือนเดิม อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) เพิ่มขึ้น
ทำเลเขตบางกะปิ แต่เดิมเป็นที่ดินประเภทหนาแน่นปานกลางสีส้ม (ย.6) ที่มี FAR 4.5:1 แต่ในผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับใหม่แม้จะเป็นที่ดินประเภทหนาแน่นปานกลางสีส้มเช่นเดิม แต่เปลี่ยนจากที่ดิน ย.6 เป็น ย.9 ทำให้ FAR เพิ่มขึ้นเป็น 5:1 ซึ่งหมายความว่าสามารถพัฒนาที่ดินได้เต็มศักยภาพมากขึ้น
![เตรียมประกาศ “ผังเมืองใหม่” กรุงเทพฯ ทำเลไหนเปลี่ยนแปลงแล้วได้ประโยชน์ เตรียมประกาศ “ผังเมืองใหม่” กรุงเทพฯ ทำเลไหนเปลี่ยนแปลงแล้วได้ประโยชน์]()
ผังสีเปลี่ยน อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR) คงเดิม
ที่ดินในทำเลอโศก-พระราม 4 มีการเปลี่ยนจากที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากสีแดง (ย.10) ที่มี FAR 8:1 เป็นที่ดินประเภทพาณิชยกรรมสีแดง (พ.7) ที่มี FAR 8:1 เท่าเดิม หมายความว่าที่ดินในทำเลนี้สามารถพัฒนาโครงการได้ในขนาดเท่าเดิม เพียงแต่สามารถพัฒนาเป็นอาคารขนาดใหญ่พิเศษบางประเภทได้
![เตรียมประกาศ “ผังเมืองใหม่” กรุงเทพฯ ทำเลไหนเปลี่ยนแปลงแล้วได้ประโยชน์ เตรียมประกาศ “ผังเมืองใหม่” กรุงเทพฯ ทำเลไหนเปลี่ยนแปลงแล้วได้ประโยชน์]()
เงื่อนไขพิเศษและมาตรการจูงใจใหม่
ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2563 นี้ ยังมีการเพิ่มเงื่อนไขพิเศษในการพัฒนาที่ดินให้กับที่ดินในบางทำเล เนื่องด้วยผังเมืองรวม 2556 นั้นติดขัดในข้อจำกัดหลายด้าน และไม่เท่าทันกับการพัฒนาที่ดินและความเจริญของเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเห็นได้ชัดจากการกำหนดรัศมีรอบเขตสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนดังนี้
* ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2556 เงื่อนไขการพัฒนาท้ายตารางกำหนดให้มีรัศมีระยะเพียง 500 เมตรจากสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ทำให้ข้อแตกต่างของเงื่อนไขจึงไม่แตกต่างกันมากนัก โดยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญไปกับขนาดถนนที่เป็นตัวชี้วัดว่าจะสามารถพัฒนาที่ดินเป็นอาคารประเภทใดได้หรือไม่ได้
* ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร 2563 มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขท้ายตารางเพิ่มเติม โดยเพิ่มรัศมีระยะทางจากสถานีขนส่งมวลชนจาก 500 เมตร สูงสุดเป็น 800 เมตร และเพิ่มเงื่อนไขการพัฒนาที่ดินในทำเลที่ไม่ติดกับถนนใหญ่ด้วยเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขและข้อกำหนดในหลายทำเล และคงมีต้องมีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ หรือได้มากได้น้อยต่างกันไป แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ใช่แลนด์ลอร์ดหรือผู้ถือครองที่ดินจำนวนมากมาย แต่ข้อมูลด้านผังเมืองก็สามารถใช้ประกอบเพื่อการตัดสินใจซื้อที่ดินหรือที่อยู่อาศัยในระดับหนึ่งได้เช่นกัน
“ผังเมือง” ทำไมต้องเปลี่ยนบ่อย
ผังเมืองรวม ถ้าเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายจะหมายถึงฟังก์ชันการใช้งานของเมือง (กรุงเทพฯ) การเปลี่ยนผังเมืองรวมจึงคล้ายๆ กับการอัพเดทฟังก์ชันของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนหรือแอปพลิเคชันต่างๆ ที่จำเป็นต้องอัพเดทอยู่เสมอ เพื่อให้เท่าทันกับความจำเป็นและความต้องการใช้งาน รวมถึงไปการแก้ไขบั๊กหรือข้อติดขัดต่างๆ ที่เคยมีปัญหา
ผังเมืองฉบับที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คือผังเมืองฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2561 และคาดว่าน่าจะประกาศใช้ภายในปีนี้