ติดหนี้บัตรเครดิต.. อย่าเผลอ!! จะถูกยึดทรัพย์-อายัดเงินเดือน

ติดหนี้บัตรเครดิต.. อย่าเผลอ!! จะถูกยึดทรัพย์-อายัดเงินเดือน

 

เมื่อบัตรเครดิตกลายเป็นตัวช่วยอันแสนสะดวกสบายในปัจจุบัน แน่นอนว่าย่อมต้องมีคนเผลอรูดบัตรเครดิตไม่น้อย ซึ่งถ้าเราชำระหนี้บัตรเครดิตได้ตรงเวลาก็ถือว่าไม่มีปัญหา แต่เมื่อไหร่ที่ติดหนี้บัตรเครดิต แล้วเผลอผิดนัดชำระหนี้ ไม่จ่ายหนี้ที่มีให้ตรงเวลาหรือตรงตามจำนวนที่ต้องจ่าย ก็อาจเสี่ยงทำให้ เจ้าหนี้ยึดทรัพย์ ถูกอายัดเงินเดือนตัวเองได้ รู้อย่างนี้แล้วต้องอย่าเผลอติดหนี้บัตรเครดิตเป็นอันขาดเลย!

รู้หรือไม่! ติดหนี้บัตรเครดิต เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์ของลูกหนี้ได้

กรณีนี้จะเกิดขึ้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี โดยถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้คืนตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้ก็จะมีสิทธิ์ยึดทรัพย์หรืออายัดสิทธิ์เรียกร้องของลูกหนี้ได้ ซึ่งศาลจะแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายยึดและอายัดทรัพย์สินขึ้นมา และทรัพย์สินที่เจ้าหนี้สามารถยึดได้ก็มีดังนี้

  1. ของมีค่า อาทิ เครื่องประดับที่มีมูลค่าอย่าง เพชร พลอย นาฬิกา สร้อยคอทองคำ ฯลฯ
  2. บ้านและที่ดิน ในนามที่เป็นชื่อลูกหนี้ ทั้งที่ติดจำนองหรือไม่ติดจำนอง
  3. รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ในนามที่เป็นชื่อลูกหนี้ และต้องไม่เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ
  4. ของใช้ส่วนตัว อาทิ เสื้อผ้าและเฟอร์นิเจอร์ ที่มีมูลค่ารวมกันเกิน 20,000 บาท
  5. เครื่องมือในการประกอบอาชีพที่มีมูลค่ารวมแล้วเกิน 100,000 บาท

เจ้าหนี้อายัดยึดเงินเดือนและเงินลงทุนใดได้บ้าง?

ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี แต่ลูกหนี้ยังเพิกเฉย ไม่ติดต่อใช้หนี้ หรือตกลงการจ่ายหนี้ไม่ได้ ก็ทำให้ฝ่ายเจ้าหนี้อาจทำเรื่องขอยึดทรัพย์และอายัดเงินได้เช่นกัน โดยลูกหนี้ผู้ที่จะถูกอายัดเงินเดือนนี้สามารถเป็นได้ทั้งพนักงานเอกชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ซึ่งเงินเดือนและเงินลงทุนที่สามารถยึดได้ มีดังนี้

  1. เงินเดือน อายัดได้ไม่เกิน 30% โดยต้องเป็นลูกหนี้ที่มีเงินเดือนมากกว่า 20,000 บาท แต่หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าเลี้ยงดูลูก ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ก็สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่กรมบังคับคดี เพื่อขอลดเปอ์เซ็นต์เงินเดือนที่จะถูกอายัดได้
  2. เงินโบนัส สามารถอายัดได้ แต่ต้องอายัดได้ไม่เกิน 50%
  3. เงินค่าตำแหน่งทางวิชาการ อายัดได้เฉพาะที่เป็นสังกัดเอกชน เพราะถือว่าเป็นเงินเดือน
  4. เงินตอบแทนการออกจากงาน โดยปกติอายัดได้ไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามเจ้าหน้าที่บังคับคดีเห็นสมควร
  5. เงินค่าตอบแทนและค่าสวัสดิการต่าง ๆ อาทิ ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าไฟ และค่าน้ำ เป็นต้น
  6. เงินในบัญชีเงินฝากหรือเงินปันผลจากการลงทุน
  7. ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน อาทิ หุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ และกองทุน เป็นต้น

ทรัพย์สินใดบ้างที่เจ้าหนี้ยึดทรัพย์และอายัดไม่ได้?

แม้จะมีทรัพย์สินหลายอย่างที่เจ้าหนี้สามารถยึดทรัพย์และอายัดได้ แต่ก็ยังมีทรัพย์สินที่เป็นข้อยกเว้นอีกหลายข้อ ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถยึดทรัพย์หรืออายัดได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น

  1. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นรายได้ที่บุคคลอื่นมอบให้เพื่อเลี้ยงชีพ จำนวนไม่เกิน 20,000 บาท
  2. เงินบำนาญ เงินบำเหน็จ หรือรายได้อื่น ๆ ลักษณะเดียวกันของพนักงานที่ไม่ใช่ข้าราชการ ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน 300,000 บาท
  3. เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยหวัด และเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญ ของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ

แล้วถ้าลูกหนี้เสียชีวิต ต้องทวงหนี้จากใคร?

แม้กฎหมายกำหนดไว้ว่า ผู้ที่ก่อหนี้ต้องเป็นคนรับผิดชอบ จึงชัดเจนว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายจะไม่ถูกโอนทวงหนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเป็นหนี้จะสิ้นสุดลง โดยเมื่อลูกหนี้บัตรเครดิตเสียชีวิต เจ้าหนี้จะต้องไปทวงหนี้จากกองมรดกของลูกหนี้เท่านั้น แต่ถ้าลูกหนี้ไม่มีมรดกก่อนตาย จะถือเป็นหนี้สูญ ซึ่งหมายความว่า เจ้าหนี้จะไม่ได้รับชำระหนี้คืน

อายุความของคดีหนี้บัตรเครดิต นับยังไง?

เมื่อเจ้าหนี้แจ้งกำหนดการชำระหนี้บัตรเครดิตให้ลูกหนี้ทราบแล้ว แต่ลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ตามกำหนด อายุความของคดีหนี้บัตรเครดิตจะถูกนับทันทีในวันถัดไป และจะมีอายุความทั้งหมด 2 ปี นับจากผิดนัดชำระหนี้

 

แม้บัตรเครดิตจะช่วยให้เราสะดวกสบายในการจ่ายเงินมากขึ้น แต่ผลที่ตามมาหากผิดชำระหนี้บัตรเครดิตก็ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลย ดังนั้น หากใช้บัตรเครดิตแล้ว ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องชำระหนี้ให้ตรงเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหายุ่งยากขึ้น แต่หากเกิดปัญหาหนี้บัตรเครดิตขึ้น ก็สามารถจัดการได้หลายรูปแบบค่ะ แนะนำว่าการหันหน้าเจรจากับเจ้าหนี้ถือเป็น 1 ในวิธีที่ดีที่สุด แต่ทางที่ดีที่สุดคือการไม่ก่อหนี้ไว้นั่นเอง

 

ที่มาข้อมูล:รายการเจตนารมณ์กฎหมาย โดยทวียศ ศรีเกตุ

ติดตามข่าวสารอสังหาฯและข่าวดังในกระแส www.home.co.th/news

ติดตามข้อมูลโครงการและความเคลื่อนไหวด้านอสังหาฯ www.home.co.th และ www.facebook.com/Homebuyersfanpage

หรือชมวิดีโออื่นๆ คลิกที่นี่  www.home.co.th/vdo  , www.youtube.com/tvhomebuyer

บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง