ปัญหา “ฟ้องร้องเรื่องก่อสร้างบ้าน” จากมุม “ผู้รับเหมา”

ปัญหา “ฟ้องร้องเรื่องก่อสร้างบ้าน” จากมุม “ผู้รับเหมา”

ฉบับนี้ผมขอเขียนเรื่องเกี่ยวกับสัญญาก่อสร้าง ซึ่งมักจะมีโอกาสเกิดความขัดแย้งระหว่างผู้รับเหมาและเจ้าของบ้านอยู่บ่อยๆ ปัญหาที่ว่าคือการเปลี่ยนแปลงงานก่อสร้างที่ต่างไปจากการตกลงแต่แรก ซึ่งจริงๆ ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เจ้าของบ้านจะเกิดอยากเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ระหว่างการก่อสร้าง แต่ถ้าสามารถตกลงกันด้วยความยุติธรรมทั้งสองฝ่ายได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้จนถึงขั้นฟ้องร้องรับรองงานก่อสร้างล่าช้าแน่นอน

ปัญหาคือการที่ผู้ว่าจ้างต้องการตัดวัสดุที่มีราคาแพงที่ระบุไว้ใน BOQ (หรืออาจไม่แพง) ออกจากรายการ เพราะคิดว่าการสั่งซื้อวัสดุเองจะประหยัดได้มากกว่า ซึ่งหลายคนสงสัยว่าแบบนี้ผู้ว่าจ้างสามารถทำได้หรือไม่ ผมนำข้อมูลจาก “ชมรมนักกฎหมายก่อสร้าง” มาอธิบายก็แล้วกัน โดยหลักการแล้วราคาค่าจ้างที่ตกลงกันถือเป็นราคา “เหมา” รวม ซึ่งรวมค่าวัสดุและค่าแรงงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ได้ระบุไว้ใน BOQ เป็นราคาเหมาที่ผู้ว่าจ้างตกลงกับผู้รับจ้างแล้ว และได้ระบุจำนวนเงินค่าจ้างเหมาไว้ชัดเจน

สัญญาราคาวัสดุใน BOQ ทำหน้าที่ 2 อย่างคือ 

1.ใช้เพื่อประเมินจ่ายค่าจ้างตามงวดงาน ซึ่งการประเมินจ่ายค่าจ้างตามงวดเป็นการประเมินคร่าวๆ เพื่อไม่ทำให้ผู้รับจ้างได้เงินค่าจ้างไปเกินกว่าค่างานที่ทำได้ เพราะจะทำให้ผู้ว่าจ้างมีความเสี่ยงหากผู้รับจ้างได้เงินค่าจ้างเกินกว่าค่างานที่ทำได้
2.ใช้เป็นตัวกำหนดราคาค่างานเพิ่มหรือลด เมื่อเกิดกรณีการเพิ่มหรือลดงานจะได้ไม่มีปัญหาว่าจะคิดราคากันอย่างไร โดยงานเพิ่มหรือลดนี้ เจตนาของการเพิ่มหรือลดงานคือเพิ่มงานที่ต้องการเพิ่ม หรือลดงานที่ไม่ต้องการที่จะทำ

ค่างานตามที่ตกลงกันเป็นค่าจ้างเหมามีที่มาจากราคาต่อหน่วยตาม BOQ ที่ผู้รับจ้างเสนอก่อนเจรจาตกลงกันจนเป็นค่าจ้างเหมา ราคาต่อหน่วยบางรายการของผู้เสนอราคาอาจสูงเพราะต้นทุนที่สูง หรือเพราะลงราคาผิดไปทำให้สูงไปบ้าง บางรายการอาจจะตํ่าเพราะต้นทุนของผู้เสนอราคาตํ่า หรืออาจลงราคาผิดไป ซึ่งท้ายที่สุดก็ตกลงกันเป็นราคาเหมา

หากวัสดุบางรายการที่ผู้ว่าจ้างไม่ต้องการใช้ต่อไป เช่น โคมไฟ ที่ขณะออกแบบนั้นแบบหรือรายการประกอบแบบกำหนดไว้อย่างหนึ่ง แต่ตอนทำการก่อสร้างไม่มีจำหน่ายแล้ว หรือยังมีจำหน่ายอยู่แต่มีของใหม่ทันสมัยกว่า ราคาเท่ากัน ถูกกว่าหรือแพงกว่า แต่เจ้าของงานประสงค์จะใช้ของใหม่ ก็เปลี่ยนแปลงได้ตามความประสงค์และตามเจตนารมณ์ของสัญญา แต่ไม่ใช่ว่าวัสดุเดียวกันตัดไปซื้อให้ผู้รับเหมาเองเพราะซื้อเองจะถูกกว่า เนื่องจากไม่ใช่เจตนารมณ์ของสัญญา ประกอบกับราคาจ้างเหมานั้นเป็นราคาที่รวมรายการวัสดุที่ตกลงกันตามสัญญาไปแล้ว

โดยสรุปก็คือผู้ว่าจ้างไม่อาจทำได้ตามหลักการของสัญญาจ้างเหมา และหากเกิดเป็นคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลต้องดูข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆ ไป ผลของคำพิพากษาจะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาล รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่คู่กรณีนำเสนอต่อศาลด้วย

เรียบเรียงจากคอลัมน์ Home Construction ในนิตยสาร Home Buyers Guide ฉบับ ก.ย. 2562 
อ่านฉบับเต็มได้แล้วที่ > Home Buyers Guide SEP 2019 

เรียบเรียงโดย : ศศิชา พุ่มทับทิม 
อีเมล : sasicha@home.co.th 

ติดตามข่าวสารอสังหาฯและข่าวดังในกระแส www.home.co.th/news

ติดตามข้อมูลโครงการและความเคลื่อนไหวด้านอสังหาฯ www.home.co.th และ www.facebook.com/Homebuyersfanpage

หรือชมวิดีโออื่นๆ คลิกที่นี่  www.home.co.th/vdo  , www.youtube.com/tvhomebuyer

บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง