ปลอดภัยไว้ก่อน! ประมูลซื้อห้องชุดเช็คค่าส่วนกลางค้างชำระด้วย

ปลอดภัยไว้ก่อน! ประมูลซื้อห้องชุดเช็คค่าส่วนกลางค้างชำระด้วย

สมัยหนึ่งใครขายที่ดินก็จะต้องไปยื่นเสียภาษีธุรกิจเฉพาะที่สรรพากรเองแต่ประชาชนไม่รู้ รวมถึงผู้เขียนเองด้วยครับ อยู่มาก็ได้รับหนังสือจากสรรพากรให้ไปเสียภาษี สอบถามจึงได้ความว่าเราขายที่ดินที่ถือครองยังไม่ครบ 5 ปีนั่นเอง ภายหลังจึงให้ผู้มีเงินได้สามารถจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะที่สำนักงานที่ดินพร้อมกับการชำระค่าธรรมเนียมได้
ปัญหาลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นกับกรมบังคับคดีกรณีทรัพย์ที่เป็นอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร เนื่องจากการจะโอนกรรมสิทธิ์ต้องมีใบปลอดหนี้ค่าส่วนกลางแนบมาด้วย ตอนประกาศขายทอดตลาดในช่วงแรกๆ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สอบถามนิติบุคคลว่ามีค่าส่วนกลางค้างไหม กลับให้เป็นหน้าที่ของผู้ประมูลเองต้องไปสอบถาม

ผมคิดเล่นๆ ว่าห้องชุด 1 ห้องหากมีผู้ประมูล 30 คน นิติบุคคลก็คงปวดหัวต้องคอยตอบคำถามทั้ง 30 คน ยิ่งกว่านั้นนิติบุคคลบางแห่งไม่กล้าบอกอีกด้วย ด้านพนักงานบังคับคดีก็คลุมตัดความรับผิดเอาไว้เบ็ดเสร็จว่า ผู้ประมูลต้องรับผิดชอบหนี้ค้างชำระต่างๆ (ถ้ามี) ฟังดูมันขัดๆ กันนะครับ
เพราะผู้ประมูลก็คงคิดไม่ถึงว่าจะต้องไปตรวจสอบเองเช่นนี้ แต่พอประมูลได้ให้โอนกรรมสิทธิ์สำนักงานที่ดินบอกว่าต้องไปเอาใบปลอดหนี้มาก่อน พอไปติดต่อขอใบปลอดหนี้นิติบุคคลก็ให้จ่ายค่าส่วนกลางค้างชำระมาก่อน มันไม่เป็นธรรมเลยนะ ให้ศาลตัดสินดีกว่า

“คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5356-5371/2561 การที่โจทก์เข้าร่วมประมูลซื้อห้องชุดจากเจ้าพนักงานบังคับคดี เท่ากับโจทก์ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดกับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า หากโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดได้และมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ ทรัพย์ส่วนกลาง ที่ค้างชำระอยู่ โจทก์ยินยอมเป็นผู้รับผิดชำระหนี้รายนี้
“เมื่อปรากฏว่าเจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เจ้าของเดิมค้างชำระให้แกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จนครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง, 29 วรรคสอง, 41 และข้อบังคับกับเงื่อนไขที่ระบุในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง 5 ปีย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เพียงจำนวนที่โจทก์เสนอขอชำระและออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ โดยไม่ยอมชำระหนี้ที่เจ้าของเดิมค้างชำระทั้งหมด เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ให้รับผิดตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 13 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้เช่นกัน”
คดีนี้ค้างชำระกว่า 10 ปีครับ คนซื้อก็แย่เลย

เรียบเรียงจากคอลัมน์ Home Law ในนิตยสาร Home Buyers Guide ฉบับ ก.ย.2562 
อ่านฉบับเต็มได้แล้วที่ > Home Buyers Guide SEP 2562 
เรียบเรียงโดย : ศศิชา พุ่มทับทิม 
อีเมล : sasicha@home.co.th 

ติดตามข่าวสารอสังหาฯและข่าวดังในกระแส www.home.co.th/news

ติดตามข้อมูลโครงการและความเคลื่อนไหวด้านอสังหาฯ www.home.co.th และ www.facebook.com/Homebuyersfanpage

หรือชมวิดีโออื่นๆ คลิกที่นี่  www.home.co.th/vdo  , www.youtube.com/tvhomebuyer

บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง