รวม “ค่าใช้จ่ายในการกู้” ตั้งแต่ต้นจนจบ

รวม “ค่าใช้จ่ายในการกู้” ตั้งแต่ต้นจนจบ

รู้หรือไม่ “กู้ซื้อบ้าน”แต่ละครั้ง ไม่ใช่มีแค่ “ดอกเบี้ย”เท่านั้นนะ ยังมีพวกค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายรายการ รวมถึงค่าปรับ(ในบางกรณี)ด้วย  ที่สำคัญแต่ละรายการแต่ละแบงก์ก็คิดไม่เท่ากันด้วย ,วันนี้รวบรวมมาให้แล้วเป็นค่าใช้จ่ายในการกู้ตั้งแต่ต้นจบประมาณ 11 รายการ เพื่อเปรียบเทียบและเตรียมตัวเตรียมตังค์,ค่ะ 

รวม “ค่าใช้จ่ายในการกู้” ตั้งแต่ต้นจนจบ

1.ค่าประเมินราคาหลักประกัน

ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ เฉลี่ย 3,000-5,000 บ./แปลง ขึ้นอยู่กับมูลค่าและที่ตั้งของหลักประกัน ค่าใช้จ่ายนี้จ่ายแล้วจ่ายเลย คือ กู้ไม่ผ่านก็ไม่คืนเงินนะคะ ถ้ายื่นหลายธนาคารก็จ่ายหลายตังค์ประมาณนั้น

2.ค่าตรวจสอบข้อมูลเครดิต

หลายธนาคารไม่คิดค่าใช้จ่ายส่วนนี้กับลูกค้า แต่ถ้าคิดส่วนใหญ่จะคิดตามเรทการให้บริการของศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ คือ 100 บ./ครั้ง

3.ค่าให้บริการสินเชื่อ

เรททั่วไปอยู่ที่ 0.25% ของวงเงินกู้ แต่หลายธนาคารมักยกเว้นค่าใช้จ่ายส่วนนี้

4.ค่าตรวจงวดงาน

ใช้กับกรณีกู้ปลูกสร้างบ้าน จะเรียกเก็บต่อครั้ง500-1,000 บ./ครั้ง ขึ้นอยู่กับวงเงินกู้ และทำเลที่ตั้งหลักประกันเช่นกัน

5.ค่าอากรแสตมป์

เป็นเรทมาตรฐาน 0.05% ของวงเงินกู้ ซึ่งธนาคารเป็นเพียงผู้รับจ่ายและนำเสนอต่อให้หน่วยราชการ

6.ค่าธรรมเนียมจดจำนอง

เป็นเรทมาตรฐานเช่นกัน คิดที่ 1% ของมูลค่าจำนองและกำหนดอัตราสูงสุดไว้ไม่เกิน 200,000บ. (ยกเว้นกรณีหลักประกันเป็นคอนโดมิเนียม) ธนาคารรับจ่ายและนำส่งให้หน่วยราชการเช่นกัน

7.ค่าประกันอัคคีภัย

เป็นประกันภาคบังคับในระหว่างที่หลักประกันยังจำนองอยู่กับธนาคาร ค่าเบี้ยประกันคิดเป็นรายปี ประมาณ 0.101-0.45% ของทุนประกันภัย(ไม่รวมค่าที่ดิน) ส่วนใหญ่มักกำหนดต่อประกัน 3 ปีครั้ง ซึ่งค่าเบี้ยจะถูกกว่าต่อปีต่อปี

8.ค่าติดตามทวงหนี้

กรณีที่ผิดนัดชำระหรือมีหนี้ค้างชำระ บางธนาคารคิดค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามหนี้ด้วย เรทสูงสุด 1,000 บ./ครั้ง

9.ค่าปรับดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

ถ้าผิดนัดชำระหนี้นอกจากค่าติดตามหนี้แล้วยังมีค่าปรับดอกเบี้ยผิดนัดด้วย หลักเกณฑ์การคิดค่าปรับดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่งปรับใหม่ปี 2563 ให้คิดดอกเบี้ยเฉพาะส่วนของเงินต้นในงวดที่ผิดนัดชำระ ส่วนอัตราค่าปรับของแต่ละธนาคารใกล้เคียงกันเฉลี่ย 15-18% 

10.ค่าเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย

แม้จะได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว เราก็ยังสามารถขอเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ รวมทั้งระหว่างผ่อนแทนที่จะรีไฟแนนซ์ไปธนาคารใหม่ก็อาจขอลดดอกเบี้ยได้(Retention)แต่ส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่าย เฉลี่ยตั้งแต่ .25-1.0% ของยอดหนี้คงค้าง

11.ค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนด

ช่วงระยะเวลายกเว้นค่าปรับการไถ่ถอน(Grace Period) ส่วนใหญ่กำหนดไว้ 3หรือ5 ปี ส่วนค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดส่วนใหญ่คิด 3% ของยอดเงินกู้คงเหลือ

เหล่านี้เป็นค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการขอสินเชื่อบ้าน ซึ่งอัตราค่าใช้จ่ายของแต่ละธนาคารอาจสูง-ต่ำกว่านี้ก็เป็นไปได้ รวมถึงบางธนาคารอาจมีรายการเรียกเก็บเพิ่มเติมมากกว่านี้ ขอให้ยึดสัญญาหรือเอกสารของธนาคารเป็นหลัก

 

บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง