สรุปวิธีคิดดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม ใหม่ ปี’63

สรุปวิธีคิดดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม ใหม่ ปี’63

ที่ผ่านมาการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆของสถาบันการเงินอาจแตกต่างกันไปและไม่สนับสนุนให้เกิดการชำระหนี้สักเท่าไหร่ ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ออกหลักเกณฑ์ใหม่ให้การคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ที่มีความเป็นธรรมต่อทั้งผู้ใช้บริการและ ผู้ให้บริการ โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด (งวด = เงินต้น + ดอกเบี้ย) ซึ่งมีรายละเอียดหลักๆ ดังนี้

ค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด

สรุปวิธีคิดดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม ใหม่ ปี’63

  1. การคิดค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกําหนด (prepayment) : วิธีใหม่ให้คิดค่าปรับการไถ่ถอนก่อนกําหนดบนยอดเงินต้นคงเหลือ  ณ วันที่ลูกหนี้ทำการไถ่ถอนสินเชื่อ จากเดิมที่บางแห่งคิดบนยอดเงินทั้งก้อนตามสัญญา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงและไม่เป็นธรรม
  2. ให้กําหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน โดยอาจพิจารณาให้สอดคล้องกับประวัติการชําระหนี้และระยะเวลาการชําระหนี้ที่ผ่านมา 

ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

สรุปวิธีคิดดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม ใหม่ ปี’63

1.การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระเฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้น แทนการคำนวณแบบเดิมที่ใช้ยอดเงินต้นคงค้างทั้งจำนวน

ตัวอย่าง : ลูกหนี้กู้สินเชื่อที่อยู่อาศัย 5 ล้าน ผ่อนชำระ 20 ปี ดอกเบี้ย 8% ต่อปี ดอกเบี้ยสูงสุดกรณีผิดนัดชำระหนี้ 15%ต่อปี  ค่างวดๆละ 42,000 บาท สมมติลูกหนี้ผิดนัด ณ งวดที่ 25 เป็นเวลา 30 วัน (ค่างวดประกอบด้วยเงินต้น 10,000 บาท และดอกเบี้ย 32,000 บาท)

แนวทางเดิม แนวทางใหม่
เงินต้นคงค้างทั้งจำนวนx(ดอกเบี้ยสูงสุดกรณีผิดนัดชำระหนี้ หักด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้)xจำนวนวันที่ค้างชำระ เงินต้นของค่างวาดที่ผิดนัดชำระx(ดอกเบี้ยสูงสุดกรณีผิดนัดชำระหนี้ หักด้วย ดอกเบี้ยเงินกู้)xจำนวนวันที่ค้างชำระ
4.77 ล้านx(15%-8%)x(30/365) 10,000x(15%-8%)x(30x/365)
=>ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ต้องจ่ายเพิ่มประมาณ 27,000 บาท =>ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ต้องจ่ายเพิ่มประมาณ 60 บาท
  1. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ : อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เมื่อรวมกับดอกเบี้ยปกติ รวมทั้งค่าปรับ เบี้ยปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมต่างๆที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของดอกเบี้ย(ถ้ามี) ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามที่ธนาคารประกาศ เช่น ถ้าธนาคารประกาศอัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ 15% และอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาสินเชื่ออยู่ที่ 6% ธนาคารจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 9% 
  2. ลำดับการตัดชำระหนี้ : เงินที่ลูกหนี้ชำระมา ให้นำไปตัดชำระหนี้ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ย และเงินต้นทีละงวดหรือตัดยอดค้างที่เก่าที่สุดก่อนแล้วค่อยตัดยอดค้างใหม่ ซึ่งแบบนี้ทำให้มีโอกาสตัดเงินต้นได้บ้าง ในขณะที่แบบเก่านำไปตัดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมด ตัดดอกเบี้ยค้างทั้งหมดแล้วค่อยตัดเงินต้นซึ่งทำให้โอกาสที่จะมีเงินเหลือไปตัดเงินต้นน้อยมาก

นอกจากนี้ กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในงวดที่มีเฉพาะส่วนของดอกเบี้ย(ช่วงปลอดเงินต้น) ธนาคารจะไม่สามารถเรียกเก็บค่าดอกเบี้ยผิดนัดชำระได้ เนื่องจากค่างวดการผ่อนไม่มีส่วนของเงินต้น

ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเครดิต

สรุปวิธีคิดดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม ใหม่ ปี’63

  1. กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรให้กับผู้ใช้บริการ โดยไม่ต้องร้องขอ
  2. กรณีต้องออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน ให้ยกเว้น/ไม่เก็บค่าธรรมเนียม แต่ถ้ากรณีที่ออกบัตรหรือรหัสทดแทนมีต้นทุนสูงก็อาจพิจารณาจัดเก็บตามความเหมาะสม

ระยะเวลา

  • การปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยผิดนัด เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563
  • การคิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด เริ่มใช้ตั้งแต่ 7 กุมภาพันธ์ 2563
  • ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2563 

 

ที่มาข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง