หมดยุค “ดอกเบี้ยคงที่” กู้ซื้อบ้านเจอ “ดอกเบี้ยลอยตัว” ตั้งแต่ปีแรก

กู้ซื้อบ้านใครๆ ก็อยากได้ดอกเบี้ยถูกๆ เพราะกู้ซื้อบ้านกว่าจะผ่อนหมดต้องใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปี ถ้ากู้ดอกเบี้ยสูงๆ ค่าดอกเบี้ยก็จะเพิ่มพูน ทำให้ส่วนใหญ่แล้วค่าดอกเบี้ยจะแพงกว่าค่าบ้านกันเกือบทั้งนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเวลาเลือกดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเราส่วนใหญ่จึงต้องหา “โปรโมชั่นดอกเบี้ย” ก่อนอันดับแรก 
แต่สถานการณ์ดอกเบี้ยตอนนี้ แม้สถาบันการเงินต่างๆ จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่กำลังเป็นอยู่ตอนนี้คือโปรโมชั่นดอกเบี้ยต่ำๆ ไม่มีอีกแล้ว ดอกเบี้ยคงที่ก็แทบไม่มี หากต้องกู้ตอนนี้จะเลือกสินเชื่อยังไง

หมดยุค “ดอกเบี้ยคงที่” กู้ซื้อบ้านเจอ “ดอกเบี้ยลอยตัว” ตั้งแต่ปีแรก

หมดยุคสินเชื่อบ้าน “ดอกเบี้ยคงที่”

อาจต้องกล่าวคำว่า “หมดโปรโมชั่นดอกเบี้ยคงที่” แล้วจริงๆ สำหรับคนที่จะกู้ซื้อบ้านซื้อคอนโดนับจากนี้ เพราะจากข้อมูลผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารหลักๆ จำนวน 11 ธนาคาร พบว่าจะเหลือก็เพียง 3 ธนาคารเท่านั้นที่ยังคงมีโปรโมชั่นอัตราดอกเบี้ยคงที่ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย โปรฯ ดอกเบี้ยช่วง 1-3 เดือนแรก อัตรา 0%, ธนาคารกรุงไทย โปรฯ ดอกเบี้ย 0.99% ช่วง 1-3 เดือนแรก และธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ยังมีดอกเบี้ยคงที่ 1 ปี 3.30% ขณะที่ธนาคารอื่นๆ ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวทั้งหมดแล้ว (ตามตาราง)
“อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่” หรือ Fixed Rate คืออัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นตัวเลขเฉพาะ ไม่ขึ้นหรือลงตามต้นทุนของสถาบันการเงิน จะคงที่ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ หรือในช่วงเวลาที่กำหนด เช่น คงที่ 1-3 เดือน หรือคงที่ 1 ปี เป็นต้น
ข้อดีของการใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ก็คือในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารปรับสูงขึ้นเราก็ยังผ่อนเท่าเดิม เรียกว่าเงินงวดกำหนดไว้เท่าไหร่ก็เท่านั้นจนถึงระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นการเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่จึงเหมาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่แนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นในตอนนี้ (ว่าแต่ยังมีแบงก์ไหนบ้าง)

กู้บ้านคิด “ดอกเบี้ยลอยตัว” ตั้งแต่ปีแรก

“ดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว” หรือ Floating Rate หมายถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะประกาศออกมาเป็นคราวๆ ไป ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เช่น MLR, MOR, MRR เป็นต้น 
โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว MRR เป็นหลัก ซึ่งมีรอบการเปลี่ยนแปลงถี่กว่าในอดีตพอสมควร ดังนั้นหากเราเป็นผู้ซื้อบ้านและต้องขอเงินกู้จากธนาคารก็ต้องติดตามสถานการณ์ดอกเบี้ยไว้ด้วย เพื่อจะได้วางแผนการกู้ให้เหมาะสม 
อย่างไรก็ตามแม้ปัจจุบันแบงก์จะเลิกแข่งโปรโมชั่นดอกเบี้ยกันแล้ว และดอกเบี้ยคงที่แทบหาไม่ได้แล้ว แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MRR อ้างอิงสินเชื่อบ้านของธนาคารส่วนใหญ่ในตอนนี้ก็ยังเป็นดอกเบี้ยลอยตัวที่แอบให้โปรโมชั่นหรือส่วนลดเล็กๆ กับผู้กู้ ด้วยการคิดอัตรา MRR- แทนที่จะเป็น MRR เฉยๆ หรือ MRR+ 
“ในกรณีที่เราเลือกกู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรือในกรณีกู้ซื้อบ้านคือ MRR หากในอนาคตดอกเบี้ยธนาคารปรับขึ้น เงินงวดที่เราต้องชำระอาจถูกปรับสูงขึ้นตามไปด้วย แต่การเรียกเก็บเงินงวดเพิ่มมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากการคำนวณเงินงวดที่ธนาคารเรียกเก็บส่วนใหญ่ก็มีการเผื่อความเสี่ยงกรณีดอกเบี้ยปรับขึ้นไว้แล้ว 1-2% 
“และที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารไม่ได้ปรับขึ้นรุนแรง แต่จะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นทีละน้อยจนไม่รู้สึกถึงผลกระทบ ยกเว้นตัวเลขในใบเสร็จที่อาจจะเห็นยอดตัดเงินต้นแต่ละเดือนลดลงไปบ้างเท่านั้นเอง”

ดอกเบี้ย MRR  
ต่ำสุด 6.625% สูงสุด 9.05%

จากข้อมูลอัพเดตอัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ รวมถึงธนาคารรัฐที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก 2 แห่งคือธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่ามีหลายธนาคารเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง ทำให้เฉลี่ยอัตราดอกเบี้ย MRR ปัจจุบันต่ำกว่า 7% โดยอัตราดอกเบี้ย MRR ต่ำสุดอยู่ที่ 6.625% และสูงสุดคือ 9.05% หรือเท่ากับส่วนต่างถึง 2.425% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างต่างกันพอสมควร   
สำหรับผู้ซื้อบ้านที่กำลังมองหาสินเชื่อ การพิจารณาเลือกเงินกู้นั้นแน่นอนว่าเงื่อนไขสำคัญที่สุดคืออัตราดอกเบี้ยควรต่ำที่สุด เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้มากที่สุด 
แต่อัตราดอกเบี้ยอาจไม่ใช่เรื่องเดียวที่ต้องคำนึงถึง ยังมีเรื่องของวงเงินกู้ การอนุมัติสินเชื่อ การบริการ และอื่นๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาควบคู่ไปด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับผู้กู้ที่จะต้องประเมินว่าสินเชื่อของธนาคารไหนแบบไหนที่เหมาะสมกับตัวเอง เช่น บางคนเน้นต้องการวงเงินกู้สูงๆ โดยไม่ติดใจหากอัตราดอกเบี้ยจะแพงกว่าเล็กน้อย หรือบางคนอาจเน้นความสะดวกเป็นหลัก เลือกกู้กับธนาคารที่มีบัญชีหรือธุรกรรมด้วย เป็นต้น

  >

ติดตามข่าวสารอสังหาฯและข่าวดังในกระแส www.home.co.th/news

ติดตามข้อมูลโครงการและความเคลื่อนไหวด้านอสังหาฯ www.home.co.th และ www.facebook.com/Homebuyersfanpage

หรือชมวิดีโออื่นๆ คลิกที่นี่  www.home.co.th/vdo  , www.youtube.com/tvhomebuyer

บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง