เศรษฐกิจแย่แต่ต้องกู้ซื้อบ้านจะทำยังไง?

กู้ซื้อบ้านในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจแย่ๆ ฟังดูน่ากลัว เหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่จริงๆ ไม่ได้ยากหรือแย่ขนาดนั้น แถมอาจเป็นจังหวะที่ดีอีกต่างหาก เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น อัตราดอกเบี้ยจะถูกตรึงไว้ในระดับต่ำๆ ถ้าวางแผนแต่เนิ่นๆ เตรียมตัวมาดี โอกาสกู้ผ่านก็ไม่ยาก

เศรษฐกิจแย่แต่ต้องกู้ซื้อบ้านจะทำยังไง?

1.เคลียร์ประวัติเครดิตบูโรให้ขาวสะอาด

อย่างที่รู้กันถ้าติดเครดิตบูโร = กู้ไม่ได้ ดังนั้นด่านแรกคือถ้าติดต้องรีบเคลียร์ด่วน เพราะถึงจะเคลียร์ปิดบัญชีกันไปแล้วแต่การยื่นขอสินเชื่อใหม่ยังต้องใช้เวลา ธนาคารบางแห่งต้อง 6 เดือนขึ้นไปถึงจะยื่นกู้ใหม่ได้
จริงๆ แล้วเรื่องเครดิตบูโรต้องตรวจสอบและเคลียร์ตั้งแต่ก่อนการตัดสินใจซื้อหรือวางเงินดาวน์ด้วยซ้ำ เพราะถ้ารอให้ถึงเวลายื่นกู้แล้วค่อยมาเคลียร์หนี้อาจไม่ทันกำหนดเวลาโอนของโครงการ ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย
“นอกจากไม่เป็นหนี้เสียแล้ว ถ้าไม่มั่นใจจริงๆ ต้องไม่มีประวัติจ่ายหนี้ล่าช้าด้วย เพราะสถานการณ์แบบนี้แม้แต่จุดเล็กๆ ก็ไม่ควรให้ด่างพร้อย”

2.ลดสร้างหนี้ ทำตัวให้เบา

แม้ตอนนี้แบงก์ชาติจะผ่อนผันเกณฑ์ LTV ให้คนที่มีชื่อเป็นผู้กู้ร่วมสามารถกู้ซื้อที่อยู่อาศัยของตัวเองได้เต็มกำลัง โดยไม่คิดภาระหนี้ในฐานะผู้กู้ร่วมที่อาจทำให้ความสามารถในการกู้น้อยลง แต่หากจะกู้เองยังไงก็ควรจัดการภาระหนี้สินให้เบาๆ หรือน้อยที่สุด และพยายามไม่สร้างหนี้เพิ่ม  ที่ต้องเป็นแบบนี้ก็เพราะก่อนหน้านี้แบงก์ชาติเคยมีความคิดที่จะคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (DSR) สำหรับผู้ที่ต้องการกู้ แม้ยังไม่ชัดเจนว่าจะประกาศใช้เมื่อไหร่ แต่ถ้าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประเทศยังสูง 70-80% ต่อ GDP แบบนี้ เชื่อว่าอีกไม่นานก็ต้องงัดมาตรการนี้มาใช้แน่นอน ถึงตอนนั้นก็จะยิ่งลำบากใหญ่
มาตรการ DSR (Debt Service Ratio) คือการกำหนดเพดานหนี้สูงสุดของบุคคล เช่น ถ้ากำหนดเพดาน DSR ไม่เกิน 50% สมมติ เงินเดือน 30,000 บาท มีหนี้อยู่แล้ว 5,000 บาท ก็จะสามารถกู้เพิ่มได้อีก 10,000 บาทเท่านั้น แต่ถ้ามีหนี้อยู่แล้ว 15,000 บาทก็จะหมดสิทธิกู้เพิ่มได้อีก ฉะนั้นพยายามอย่าสร้างหนี้อื่น หากรู้ว่าเราจะต้องกู้ซื้อบ้านในเร็วๆ นี้

3.อย่าเพิ่งรีบยื่นกู้ถ้างานยังไม่มั่นคง

ถ้ายังไม่ได้บรรจุเป็นพนักงานประจำอย่าเพิ่งรีบกู้ ขืนรีบร้อนอาจทำให้กู้ไม่ผ่าน เนื่องจากปกติธนาคารจะกำหนดอายุงานต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี ส่วนรายได้ปกติกำหนดรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูประเภทงานหรืออาชีพของผู้กู้ด้วยว่าเป็นอาชีพที่อยู่ในเทรนด์หรือเป็นที่ต้องการของตลาด หรือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจโดน Disrupt

4.ไม่กู้เกินตัว

โดยทั่วไปธนาคารจะกำหนดให้การผ่อนหนี้บ้านไม่เกิน 40% ของรายได้ ฉะนั้นก็ต้องคำนวณดูว่าบ้านที่ซื้อต้องผ่อนต่อเดือนเท่าไหร่ หากบ้านราคาสูงดูแล้วภาระผ่อนจะหนักเกินไป ถ้าไม่เปลี่ยนใจไปดูหลังที่เล็กลงเพื่อลดภาระผ่อนก็ต้องเก็บเงินเพื่อวางดาวน์ให้มากขึ้น ทำให้ยอดเงินกู้ลดลงตามไปด้วย นอกจากทำให้โอกาสกู้ผ่านเพิ่มขึ้นแล้ว เราก็ไม่ต้องเหนื่อยกับการผ่อนด้วย

5.ฉลาดเลือกดอกเบี้ย

ผลิตภัณฑ์หรือโปรโมชั่นของแต่ละธนาคารมีหลายรูปแบบ ต้องเลือกให้เหมาะสมกับสถานการณ์และตัวเราเอง 
ช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยยังทรงๆ แต่ก็มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น ดังนั้นควรเลือกกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ยาวๆ ไว้ก่อน หรือบางคนเพิ่งทำงาน รายได้ยังไม่มาก เลือกกู้แบบอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดก็ดี ผ่อนน้อยในปีแรกๆ แล้วค่อยๆ ผ่อนเพิ่มขึ้นตามเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น

 

ติดตามข่าวสารอสังหาฯและข่าวดังในกระแส www.home.co.th/news

ติดตามข้อมูลโครงการและความเคลื่อนไหวด้านอสังหาฯ www.home.co.th และ www.facebook.com/Homebuyersfanpage

หรือชมวิดีโออื่นๆ คลิกที่นี่  www.home.co.th/vdo  , www.youtube.com/tvhomebuyer

บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง