“รีไฟแนนซ์บ้าน” ทางเลือกในการลดภาระผ่อนจาก “หนัก” เป็น “เบา”

“รีไฟแนนซ์บ้าน” ทางเลือกในการลดภาระผ่อนจาก “หนัก” เป็น “เบา”

ผลกระทบจาก COVID-19 ทำเศรษฐกิจปีนี้ตกต่ำย่ำแย่มาก หลายคนถูกลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้าง หรือไม่ก็รายได้ลดลง คนที่มีหนี้ต้องผ่อนปีนี้ค่อนข้างลำบากมากทีเดียว หนทางหนึ่งที่จะทำให้ภาระการผ่อนบ้านแบบหนักๆ ให้กลายเป็นผ่อนเบาๆ คือ “การรีไฟแนนซ์

รีไฟแนนซ์คืออะไร

การรีไฟแนนซ์หมายถึง “การเปลี่ยนเจ้าหนี้” กรณีเป็นหนี้บ้าน การรีไฟแนนซ์คือการไถ่ถอนหนี้ที่กับธนาคารเดิมมาขอกู้จากธนาคารใหม่ โดยเหตุผลที่ต้องรีไฟแนนซ์ส่วนใหญ่มาจากเรื่อง “ดอกเบี้ย” และ “เงินงวดผ่อน” เพราะโดยปกติช่วงแรกของการกู้ (1-3 ปีแรก) แทบทุกธนาคารจะให้โปรโมชั่นดอกเบี้ยถูก เป็นพวกอัตราดอกเบี้ยคงที่หรือไม่ก็ MRR- และเงินงวดต่อเดือนก็ต่ำ

แต่พอพ้นช่วงโปรโมชั่นไปกลับมาใช้ดอกเบี้ยอ้างอิง MRR ซึ่งแพงกว่าดอกเบี้ยโปรโมชั่น เลยทำให้เงินงวดสูงตามไปด้วย ดังนั้นพอผ่อนมาถึงช่วงนี้คนผ่อนจึงต้องพยายามหาทางรีไฟแนนซ์ไปยังธนาคารใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยถูกกว่า

ขั้นตอนรีไฟแนนซ์

ขั้นตอนรีไฟแนนซ์เริ่มด้วยการแจ้งธนาคารเดิมว่าจะรีไฟแนนซ์ เค้าก็จะให้ตัวเลขยอดหนี้คงค้างมา พร้อมกันนี้ก็ไปยื่นขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ ตรงนี้ก็จะมีการประเมินหลักทรัพย์และใช้หลักฐานส่วนตัว เอกสารทางการเงินเหมือนกับขอกู้ครั้งแรก แต่ที่ต้องเพิ่มคือใบเสร็จหรือหลักฐานการผ่อนชำระย้อนหลัง (กับธนาคารเดิม) มายื่นด้วย

และมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าจดจำนองหลักประกัน 1% ของวงเงินกู้ ค่าประเมินหลักประกัน ทำประกันอัคคีภัย ฯลฯ ซึ่งหลายธนาคารก็มักยกเว้นค่าใช้จ่ายเหล่านี้เพื่อจูงใจให้ตัดสินใจเลือกรีไฟแนนซ์กับธนาคาร เสร็จจากนี้ก็เหมือนการกู้ครั้งแรก คือทำสัญญากู้กับธนาคารใหม่และจดจำนองที่สำนักงานที่ดิน

รีไฟแนนซ์อย่างไรจึงจะคุ้ม

เหตุผลของการรีไฟแนนซ์ส่วนใหญ่ก็เพื่อหนีเงินงวดสูงๆ ดอกเบี้ยแพงๆ หรืออยากผ่อนน้อยลง อยากได้ดอกเบี้ยถูกลง ดังนั้น “ดอกเบี้ย” จึงสำคัญที่สุด ทั้งนี้มีแนวทางสำหรับการเลือกอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ 2 ทาง นั่นคือ

1.ถ้าคิดว่าจะรีไฟแนนซ์แค่ครั้งเดียวแล้วผ่อนยาวไปเลยจนครบสัญญา ก็ให้เปรียบเทียบ “อัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (MRR)” ของธนาคารเก่าและธนาคารใหม่เป็นหลัก ดอกเบี้ยธนาคารใหม่ต้องต่ำกว่า ยิ่งต่ำกว่ามากเท่าไหร่ยิ่งดี หรืออย่างน้อยควรต่ำกว่า 2% ขึ้นไป เพราะเรามีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ด้วย

2.แต่ถ้าคิดว่ารีไฟแนนซ์ครบ 3 ปีแล้วจะรีไฟแนนซ์อีกรอบ ก็อาจจะดูแค่ดอกเบี้ยช่วงโปรโมชั่น 3 ปีแรกก็ได้ แต่ต้องไม่ทิ้งหลักการสำคัญ คือดอกเบี้ยธนาคารใหม่ถูกลงเท่าไหร่ เราผ่อนถูกลงเดือนละเท่าไหร่ รวมๆ แล้วประหยัดดอกเบี้ยได้เท่าไหร่ และดอกเบี้ยที่ประหยัดได้คุ้มมั้ยกับกับค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์ครั้งนี้ 

เกร็ดความรู้ “รีไฟแนนซ์บ้าน”

• ต้องรีไฟแนนซ์หลังพ้นกำหนดห้ามไถ่ถอน ถ้ายังไม่พ้นยังไงก็ควรกัดฟันผ่อนกับธนาคารเดิมไปก่อน เพราะไม่งั้นจะโดนค่าปรับ 3% ของวงเงินคงเหลือ ซึ่งรีไฟแนนซ์ไปก็ไม่คุ้ม 

• “เงินต้นคงเหลือ” มีผลอย่างมากต่อการรีไฟแนนซ์ ถ้าหนี้เหลือน้อย บางทีรีไฟแนนซ์ไปก็ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย เพราะเงินต้นน้อย ดอกเบี้ยก็น้อยอยู่แล้ว ก็ไม่ควรรีไฟแนนซ์ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยากระดับหนึ่ง ที่สำคัญธนาคารส่วนใหญ่มักกำหนดวงเงินขั้นต่ำ 1 ล้านบาทขึ้นไป ต่ำกว่านี้ไม่รับรีไฟแนนซ์ ดังนั้นถ้าหนี้เหลือน้อยกัดฟันผ่อนไปดีกว่า หรือถ้ามีเงินมากก็โปะเงินงวดให้มากกว่าที่ธนาคารกำหนดก็จะช่วยให้ผ่อนหมดเร็วขึ้นได้

ติดตามข่าวสารอสังหาฯและข่าวดังในกระแส www.home.co.th/news

ติดตามข้อมูลโครงการและความเคลื่อนไหวด้านอสังหาฯ www.home.co.th และ www.facebook.com/Homebuyersfanpage

หรือชมวิดีโออื่นๆ คลิกที่นี่  www.home.co.th/vdo  , www.youtube.com/tvhomebuyer

บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง