ถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องมี... “เกราะคุ้มกันทางการเงิน”

ถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องมี... “เกราะคุ้มกันทางการเงิน”
ถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องมี “เกราะคุ้มกันทางการเงิน”

วิกฤติ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและตัวเรา อาจเป็นตัวเร่งให้เราทุกคนจำเป็นต้องมีเกราะคุ้มกันทางการเงินเร็วขึ้น เพื่อรับประกันได้ว่าเมื่อมีเหตุฉุกเฉินที่ต้องหยุดทำงาน ตกงาน ไม่มีรายได้อย่างกะทันหัน เราและครอบครัวจะไม่เดือดร้อนลำบาก หรือยังพอมีเวลาตั้งตัว 

เกราะคุ้มกันทางการเงินคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร มาฟังคำเฉลยกันค่ะ

เกราะคุ้มกันทางการเงินคืออะไร?

ในทางทฤษฏีการเงินกำหนดไว้ว่า “การมีเกราะคุ้มกันทางการเงิน (Financial Protection)” เป็นเพียงบันไดขั้นที่ 1 จากจำนวนทั้งหมด 5 ขั้นที่มนุษย์จะก้าวสู่ “อิสรภาพทางการเงิน” ความหมายง่ายๆ ของการมีเกราะคุ้มกันทางการเงินคือ การมีเงินสดถืออยู่กับมือคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 6 เดือน สําหรับเป็นค่าใช้จ่ายจําเป็นพื้นฐานในการดํารงชีวิตโดยที่ไม่ต้องทํางาน 

เพื่ออะไร? เพื่อกันไว้สำหรับเวลาเกิดสถานการณ์เลวร้ายกับชีวิตนั่นเอง (เช่น สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ที่ทำให้หลายคนตกงาน หยุดทำงาน ไม่มีรายได้) เพราะการถือเงินสดจำนวนนี้อยู่กับมือเท่ากับว่าในช่วงเวลา 6 เดือนหลังจากไม่ได้ทํางาน ไม่มีรายได้ เรายังสามารถมีกินมีใช้ และมีเวลาหาอาชีพใหม่ หรือรอจนกว่าสถานการณ์ต่างๆ จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม

ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตพื้นฐานมีอะไรบ้าง?

การจะทราบได้ว่าตัวเราเองเข้าสู่จุดนี้หรือไม่อย่างไร วิธีการคือต้องประเมินต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการดํารงชีวิตรายเดือนของตัวเราเองออกมาให้ได้เสียก่อน

ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในการดํารงชีวิตพื้นฐานทั้งหมดในที่นี้ ได้แก่ ค่าอาหาร, ค่าเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม, ค่าเดินทาง, บิลค่าใช้จ่ายรายเดือนต่างๆ, เบี้ยประกัน, ค่าดูแลรักษาบ้าน, รายจ่ายบัตรเครดิต, เงินผ่อนชําระเงินกู้ซื้อบ้าน, ค่าใช้จ่ายในการพักผ่อนหย่อนใจพื้นฐาน เป็นต้น 
การคิดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าจะต้องไม่มีวันหยุด ไม่มีการออม และไม่มีการซื้อสิ่งของรายการใหญ่ๆ พิเศษ พูดง่ายๆ คือเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายจําเป็นสําหรับการดํารงชีวิตตามวิถีปกตินั่นเอง

 

วิธีคำนวณและการเก็บออมเงินเพื่อสร้าง “เกราะคุ้มกันทางการเงิน”

วิธีคำนวณง่ายมาก เช่น คุณ A และภรรยาตรวจเช็คดูแล้วพบว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดํารงชีวิตพื้นฐานเฉลี่ยของครอบครัว = 30,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นการมีเกราะคุ้มกันทางการเงินคือครอบครัวคุณ A จะต้องมีเงินสดอยู่ในมืออย่างน้อย 6x30,000 = 180,000 บาท
เงินก้อนนี้อาจถือไว้เป็นเงินสดหรือฝากอยู่กับธนาคารก็ได้ แต่ต้องเป็นเงินฝากที่สามารถถอนได้ในทันทีที่ต้องการ หรือสามารถถอนได้โดย ATM และให้ถือว่าเงินก้อนนี้เป็นเงินที่กันไว้สําหรับฉุกเฉินเท่านั้น

ณ สถานการณ์ตอนนี้เชื่อว่าอาจมีหลายคนที่ไม่ทันตั้งตัวเตรียมการสำหรับสิ่งนี้ไว้ แต่จากบทเรียนที่ได้พบเจอคงจะทำให้เราทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และเริ่มลงมือปฏิบัติเพื่อเป้าหมายของการมีสุขภาพทางการเงินที่ดีในขั้นต่อๆ ไปค่ะ

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการออม

โดยทั่วไปเราควรออมเงินประมาณ 1 ใน 4 ของรายไ?ด้แต่ละเดือน อย่างไรก็ตามอัตราส่วนนี้ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของแต่ละคน ขึ้นอยู่กับรายได้ปัจจุบันและแผนทางการเงินที่วางไว้
เช่น ถ้ารายได้น้อย หนี้สินเยอะ อาจลดจำนวนการออมลงได้ เพื่อนำเงินไปทยอยชำระหนี้ให้หมดก่อนแล้วค่อยออมเพิ่ม แต่ถ้ามีแผนจะใช้เงินก้อนใหญ่ในระยะเวลาใกล้กันก็อาจจำเป็นต้องออมเงินมากกว่า 1 ใน 4 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องการ เช่น ท่องเที่ยว ซื้อของ (ฟุ่มเฟือย) ที่อยากได้ หรือแม้กระทั่งการเก็บไว้สำหรับดูแลตัวเองตอนแก่ 

 

บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง