การกู้ซื้อบ้านของอาชีพอิสระ

การกู้ซื้อบ้านของอาชีพอิสระ

การยื่นกู้สินเชื่อบ้านของกลุ่มอาชีพอิสระ หรือ Freelance เป็นอีกอาชีพที่มีความยากอย่างมาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ต้องรู้วิธีการวางแผน การเตรียมเอกสารให้ดีเท่านั้นเอง ปัจจุบันมีผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระจำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ในการทำงานของกลุ่มคน GEN Y และ Z ที่ประสบความสำเร็จมีบ้านกันอย่างรวดเร็ว สำหรับอาชีพอิสระคนไหนอยากยื่นกู้ซื้อบ้านคุณมาถูกทางแล้ว Home buyer มีเทคนิค และเรื่องเล่าจากประสบการณ์ดี ๆ มาฝาก รับรองว่ากู้ขอสินเชื่อบ้านผ่านฉลุยอย่างแน่นอน!

เทคนิคยื่นกู้บ้านของอาชีพอิสระ 

การยื่นกู้บ้านของอาชีพอิสระมีหลากหลายเทคนิคทั้งจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร จากประสบการณ์การตัวอย่าง ซึ่งประเด็นหลัก ๆ ของอาชีพอิสระนั้นคือการเตรียมเอกสารให้พร้อม รวมถึงวินัยในการเก็บออม การยื่นภาษีต่าง ๆ ดังนี้

1. เตรียมเอกสารยื่นกู้ให้พร้อม
  • สำเนาบัตรประชาชนผู้กู้
  • สำเนาทะเบียนบ้านผู้กู้
  • ใบเปลี่ยนชื่อ/นามสกุล/ทะเบียนสมรส/ใบหย่า (ถ้ามี)
  • บัญชีเงินเดือนหรือบัญชีรายรับ/รายการเดินบัญชี Statement ย้อนหลัง 6 เดือน – 1 ปี
  • ใบจองซื้อ/สำเนาโฉนดที่ดิน
  • เอกสารเพิ่มเติมสำหรับอาชีพ Freelance
  • Statement แสดงรายการเดินบัญชีย้อนหลัง อย่างน้อย 12 เดือน
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้กรณีทั่วไป (ภ.ง.ด.90)
  • ใบเสร็จรับเงินชำระภาษีประจำปี
  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (ใบ 50 ทวิ)
  • ใบสัญญาจ้างงาน อาจมีเอกสารอื่น ๆ ร่วมด้วย
 
2. จ่ายภาษีและยื่นแบบครบถ้วนทุกปี
การจ่ายภาษีเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอาชีพอิสระ ไม่ว่ารายได้จะมากหรือน้อยทุก ๆ ปีเราต้องยื่นแบบภาษีภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด เมื่อยื่นแบบภาษีแล้วก็จะได้รับเอกสาร ภ.ง.ด.90 และใบเสร็จ เช่น ควรเก็บย้อนหลังนาน 2-3 ปี  
 
3. ไม่มีหนี้สิน ไม่ติดเครดิตบูโร
ธนาคารที่ยื่นกู้จะมีการตรวจสอบประวัติทางธุรกรรมโดยผู้ดำเนินการเก็บข้อมูลไม่ว่าจะเป็น ผ่อนจ่ายบัตรเครดิต ผ่อนรถ ผ่อนสินค้า บัตรกดเงินสด หรือรายการทำธุรกรรมต่าง ๆ คือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือที่เรียกติดปากว่า “เครดิตบูโร” นั่นเอง เพราะฉะนั้นหากเรามีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ดี ไม่มีหนี้สินก็จะทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ ของเราสะดวกยิ่งขึ้น
 
4. วินัยในการออมเงิน 
การที่เรามีบัญชีเงินออม ฝากเงินเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยแสดงศักยภาพและความมีวินัยด้านการเงินของเรา แม้ว่าจะทำอาชีพอิสระก็ตาม ทั้งนี้สามารถเลือกบัญชีเงินออมทรัพย์ของธนาคารไหนก็ได้อีกเช่นกัน
 
5. การกู้ร่วม  
“กู้ร่วม” คือ การร่วมทำสัญญาเงินกู้สินเชื่อก้อนเดียวกัน เพื่อให้ทางธนาคารเห็นว่าจะมีอีกคนมาช่วยรับผิดชอบในวงเงินกู้ เพิ่มความมั่นใจความสามารถในการผ่อนชำระได้ตามกำหนด ทำให้ขออนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น เปรียบเสมือนทางเลือกที่ทำให้ง่ายขึ้นด้วยวิธีการหาผู้กู้ร่วมในเครือญาติ หรือสามีภรรยามาร่วมรับภาระผ่อนวงเงินกู้ด้วยกัน ซึ่งผู้ที่กู้ร่วมกับเราก็จำเป็นต้องมีเอกสารแสดงรายได้ชัดเจนเช่นกัน

เรื่องเล่าจากประสบการณ์การยื่นกู้ของอาชีพอิสระ

ก่อนอื่นต้องบอกว่าที่เราเห็นโฆษณาของหลาย ๆ ธนาคารว่า “อาชีพอิสระก็กู้ได้นั้น ในความเป็นจริงในตลาดจะมีแค่ 2-3 ธนาคารเท่านั้นที่ปล่อยกู้ (จริง) ให้กับอาชีพอิสระและทุกธนาคารจะมีเงื่อนไขมากมายซ่อนอยู่!

ในการกู้ซื้อบ้านของอาชีพอิสระสิ่งสำคัญที่สุด คือ 50 ทวิ (เอกสารหักภาษี ณ ที่จ่าย) ประเด็นนี้ดูเหมือนจะไม่ยากใช่ไหม เพราะเวลารับเงินเราก็ต้องได้ 50 ทวิอยู่แล้ว แต่จริง ๆ มันยากมาก หากไม่มีการเตรียมความพร้อมให้ดี เพราะอะไรมาดูกัน!

ธนาคารที่ 1  : ต้องมีรายได้เข้าบัญชี “ทุกเดือน” และรายได้นั้นต้องมี 50 ทวิ เป็นเอกสารกำกับด้วย แต่เงื่อนไขสำคัญกว่านั้น คือ รายได้ต้องเข้าทุกเดือน นั่นคือ สมมติว่าในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาคุณมีรายได้เข้าในเดือนที่ 1, 2 แต่เว้นไปในเดือนที่ 3,4 และมาเข้าอีกทีเดือนที่ 5 และ 6 ไม่ว่าจะเข้ากี่หมื่นกี่แสนบาทเค้าก็ไม่เฉลี่ยให้นะคะ!! สรุปธนาคารที่ 1 คนอาชีพอิสระที่รายได้เข้าไม่ประจำทุกเดือน “ตกคุณสมบัติ” 

ธนาคารที่ 2เงื่อนไขคล้ายธนาคารแรกคือ รายได้ต้องมี 50 ทวิกำกับด้วย แต่ความโหดก็คือ เงินเข้าบัญชีทุกบาททุกสตางค์ ต้องตรงกับ 50 ทวิ แล้วเงินนั้น ต้องตรงกับชื่อบริษัทที่โอนเงินให้ด้วย เรื่องนี้จริง ๆ ดูเหมือนง่าย แต่ที่มันกลายเป็นยากเพราะบางคน เราเองนี่แหล่ะมีรายได้เข้าจากหลายทาง ดังนั้นพอเจอรายการไหนที่ไม่ตรงขึ้นมาก็ “ตกคุณสมบัติ” ทันทีแม้ว่าของเรานั้นรายได้ที่ไม่ตรง 50 ทวิ มีไม่ถึง 20% ของรายได้ทั้งหมดด้วยซ้ำ!  (*เราเป็น Freelance อยู่ 3-4 แห่งและมีรายได้จากธุรกิจส่วนตัวด้วยส่วนหนึ่ง) แต่ธนาคารนี้มีข้อดี คือ เฉลี่ยรายได้ให้โดยคิดเฉลี่ยจาก 6 เดือนล่าสุด 

ธนาคารที่ 3 : จะว่าหยืดหยุ่นก็ได้จะว่าโหด (กว่า) ก็ถูก เพราะธนาคารนี้ ประเมินรายได้ให้แค่ 25% ของรายได้จาก 50 ทวิเท่านั้น โดยจะดูรายได้ในรอบ 12 เดือน นั่นคือ ถ้ามีรายได้เฉลี่ยที่เดือนละ 10,000 บาท ธนาคารนี้จะประเมินว่าคุณมีรายได้ 2,500 บาทเท่านั้น ลองคิดเปรียบเทียบดูถ้าคนอาชีพอิสระจะซื้อบ้านกับธนาคารนี้จะต้องมีรายได้มากกว่าพนักงานประจำกี่เท่า ?

เล่ามาถึงตอนนี้ คงอยากรู้แล้วใช่ไหม ตกลงกู้ได้ไหม และกับธนาคารไหน ซึ่งก็เหลืออยู่ธนาคารเดียวที่ยังไม่ตกคุณสมบัติ (ธนาคารที่ 3) นั่นไง แต่งานนี้ถ้าไม่ได้ตัวช่วยก็คงไม่ได้ คือได้น้องซึ่งเป็นข้าราชการมาเป็นผู้กู้ร่วม (คิดว่าคงเป็นเพราะผู้กู้ร่วมนี่แหล่ะที่ทำให้กู้ได้) และถึงจะผ่านด่าน “คุณสมบัติ” ได้แล้ว แต่ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ อีกสารพัด ที่ทำให้ยุ่งยากเข้าไปอีก เท่าที่พอจะเล่าได้ 

  • เรียกหลักฐานต่างๆทั้งอสังหาฯ ที่ถือครองและเงินฝาก แต่ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหลักทรัพย์เหล่านี้นะคะ ไม่ได้ใช้ค้ำประกัน แค่เอาไปดูเฉย ๆ
  • ให้ปิดบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ถ้ามีมากกว่าหนึ่งหลังให้ปิดหลังที่ยังเหลือหนี้มากที่สุด แต่ไม่รับประกันว่าถ้าปิดหลังเก่าแล้วจะกู้ผ่านไหม!

(ถ้าปิดบ้านหลังเก่าเราจะกู้ได้วงเงินกู้ต่อหลักประกันมากขึ้นตามเกณฑ์ LTV ของแบงก์ชาติ แต่เราเลือกที่จะไม่ปิดเพราะมูลหนี้ยังเหลือเยอะอยู่ เลยได้วงเงินกู้แค่ 70% โดยยอมโปะส่วนต่างเป็นเงินสดส่วนหนึ่งแทน)

  • กู้ 3 ล้านปลายๆแต่ให้ทำประกันคุ้มครองสินเชื่อ 200,000บาท แม่เจ้า! เบี้ยประกัน>6% ของวงเงินกู้เลยนะนั่น!! เราประเมินแล้วคิดว่าไม่คุ้ม เลยขอทำประกันคุ้มครองแค่ 3 ปี เบี้ยประกัน 1.5 หมื่น ดอกเบี้ยพิเศษแค่ 25-50 สตางค์ไม่ต้องก็ได้ ไม่เอา(เรื่องประกันคุ้มครองสินเชื่อเนี่ยบอกเลยว่ายัดเยียดขายสุด ๆ!!)
  • ฯลฯ ยังมีอีกหลายเรื่องราวที่ล้วนเป็นประสบการณ์แย่ ๆ ระหว่างทำเรื่องกู้ แต่ก็ยังดีที่เราสามารถกู้ได้ 
  • มีเรื่องเดียวที่เราคิดว่าโอเคสำหรับแบงก์นี้คือ แม้จะเป็นการกู้ร่วมแต่สามารถเลือกระบุหลังโฉนดให้เป็นชื่อคนกู้หลักคนเดียวได้

ก่อนจบเรื่องเล่า อยากจะย้ำอีกครั้งว่าการกู้ซื้อบ้านสำหรับผู้กู้ที่ทำอาชีพอิสระนั้น สำคัญที่สุดคือ เอกสารแสดงที่มาของรายได้ ซึ่งต้องเตรียมให้พร้อมให้ครบ เช่น ถ้าคุณรับเป็นเงินสดก็ต้องมีใบรับเงินสด ถ้าเป็น Freelance แบบครั้งคราว/ไม่ได้ทำสัญญาก็ต้องมีใบรับรองการจ้างงานแทน เป็นต้น และที่ต้องเป๊ะมากๆ คือ 50 ทวิ !!

2 เดือนเต็มกับกับเดินเรื่องยื่นกู้ ยื่นเอกสารเพิ่มเติม ติดตามเรื่อง กระทั่งทราบผลอนุมัติ ตอนนี้กำลังรอเอกสารของผู้กู้ร่วมที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งเดินทางมาเซ็นสัญญาที่สนญ. ไม่ได้เพราะโควิด-19 ข้าราชการเค้าห้ามเดินทางออกจากพื้นที่ หวังว่าเรื่องเล่าของเราคงจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนอาชีพอิสระที่วางแผนจะกู้ซื้อบ้านในตอนนี้นะคะ เอาใจช่วยให้กู้ผ่านกันทุกคนค่ะ

ขอบคุณเจ้าของเรื่อง : Naiyana Yamarun และข้อมูลจาก : Krungsri The COACH

 

บทความแนะนำ

บทความที่เกี่ยวข้อง